สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ถอดเสียงสัมภาษณ์ : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

“ให้ธรรมชาติเป็นธรรมชาติ” - ดร. ดนัย ทายตะคุ

เคยรู้จักสถาปนิกที่ไม่ออกแบบอาคารบ้างไหม

บางคนอาจตอบว่าก็สถาปนิกที่จัดสวนไง

เมื่อถาม ดร. ดนัย ทายตะคุ อาจารย์อธิบายว่าแท้จริงแล้วสถาปนิกจัดสวนคือ ภูมิสถาปนิก หรือภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งหลายคนในวิชาชีพนี้ก็ยังสับสนเรียกตัวเองว่า สถาปนิก เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ แต่ก็ทำให้เข้าใจผิดกันมาตลอด

ดร. ดนัย ทายตะคุ น่าจะเป็นภูมิสถาปนิกที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อ

แต่ในวงการภูมิสถาปัตยกรรม หรือภูมินิเวศ (Landscape ecology) เขาคือผู้บุกเบิกแนวทางนี้ในเมืองไทยคนแรกๆ อาจารย์สอนอยู่ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเกษียณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภูมินิเวศและปฏิบัติการออกแบบบนฐานภูมินิเวศ (สถาปัตย์ จุฬาฯ) และสอนประจำที่หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ภูมินิเวศคือการออกแบบพื้นที่ด้วยความเคารพต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ โครงการที่เขาเคยร่วมวางผังและออกแบบ เช่น การฟื้นฟูที่ดินเหมืองแร่เก่าให้เป็นสวนสาธารณะ งานออกแบบปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็กๆ อย่างลานจอดรถ ลานคอนกรีต ตามคณะต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่หน่วงน้ำ ช่วยชะลอน้ำตอนฝนตกหนักไม่ให้ไหลออกไปในระบบระบายน้ำของ กทม. ที่ปริมาณน้ำอาจล้นแล้ว โดยอาศัยหลัก Nature Based Solution และ “Small is Beautiful” ที่อาจารย์สะท้อนว่า “เรามักจะมองอะไรใหญ่ๆ โตๆ แต่ไม่มองว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็ช่วยได้ ถ้าคิดให้กว้าง ลึก ละเอียด ถี่ถ้วน และครอบคลุม”

อาจารย์บอกว่านักภูมิสถาปนิกเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมหรือนำธรรมชาติกลับมาสู่มนุษย์ แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิด ออกแบบ วางผัง พื้นที่ โดยขาดความรู้เรื่องระบบนิเวศ เช่น นำไม้ต่างถิ่นเข้ามาปลูก หรือเปลี่ยนแปลงภูมินิเวศดั้งเดิมจนเสียหาย

ช่วงระยะ ๓-๔ ปีหลังมานี้ เขามีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต้องการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดดั้งเดิมให้คืนกลับมา มีการรื้อเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นหน้าหาดออก เพื่อให้การก่อตัวของหาดทรายดำเนินไปตามกระบวนการของฤดูกาลและธรรมชาติของกระแสน้ำ เอาต้นสนทะเลจำนวนมากซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เอเลี่ยนออกจากพื้นที่ เพื่อให้เมล็ดพืชพันธุ์ดั้งเดิมมีโอกาสเติบโต

ดร. ดนัย มองว่าอนาคตของมนุษย์และธรรมชาติอยู่ที่ความเข้าใจของเราต่อคุณค่าของธรรมชาติ ความเข้าใจว่าเรามีวิวัฒนาการร่วมกับธรรมชาติมาอย่างไร และโครงการที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันอาจเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้สังคมมากขึ้น