ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ เว็บไซด์ publishing.soc.go.th เผยแพร่ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๓๑ ง หน้า ๕๓ มีเนื้อหาว่าด้วยการกำหนดประเภทโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ อีไอเอ (EIA)

เนื้อความตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๖ กำหนดให้โครงการก่อสร้างกำเเพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำอีไอเอ

หลังถูกเพิกถอนให้ไม่ต้องทำอีไอเอมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นต้องกลับมาทำอีไอเออีกครั้ง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการฟื้นฟูชายหาด หลังภาคประชาชนต่อสู้เรียกร้อง สื่อสารองค์ความรู้เรื่องชายหาดมายาวนาน

ราชกิจจานุเบกษาประกาศ กำแพงกันคลื่น (ทุกขนาด) ต้องทำ EIA

ถือเป็นการประกันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ผ่านกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

รศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้งภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยภาพรวมถือว่าเป็นคุณต่อสิ่งแวดล้อม ถึงแม้เวลาศึกษาอีไอเอ บางทีก็ผ่าน บางทีก็ไม่ผ่าน ซึ่งสุดท้ายแล้วมันมักจะผ่าน แต่อย่างน้อยการอยู่ในกระบวนการทำรายงานอีไอเอมันสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เกิดความรอบคอบผ่านการจัดประชุมตามลำดับขั้นตอน ถือเป็นการประกันสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนผ่านกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนได้มีสิทธิที่จะตัดสินใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

จุดที่ไม่เห็นด้วยคือนิยามคำว่า ‘แนวชายฝั่งทะเล’ ว่าเป็น ‘แนวที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดตามปกติทางธรรมชาติ’ ไม่ได้ระบุว่าหมายถึงในเวลาใด น้ำขึ้นสูงสุดเดือนมกราคมกับเมษายนไม่เท่ากัน เอายังไง เอาตรงไหน ในส่วนนี้อาจจะตีความยาก แล้วคำว่า ‘กำแพงติดแนวชายฝั่งทะเล’ ในเชิงวิชาการมันมีแต่ ‘กำแพงกันคลื่น’ คำนี้จะตีความยังไง มันดูกำกวม ยกตัวอย่างกำแพงกันดินของชาวบ้าน เรียกว่ากำแพงติดแนวชายฝั่งทะเลรึเปล่า

ภาพรวมอัตราการเพิ่มขึ้นของกำแพงกันคลื่นน่าจะลดลง มันคงจะยังเกิดขึ้น แต่เกิดอย่างรอบคอบมากขึ้น และมันจะเกิดขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร

นักวิชาการขยับเขยื้อนมานาน ตั้งแต่กระแสสังคมยังเป็นศูนย์ ต่อมาประชาชนเริ่มเห็นผลกระทบรุนแรงจากกำแพงกันคลื่น สื่อมวลชนได้รับความรู้ การต่อสู้เริ่มสุกงอม ถ้านักวิชาการสู้ แต่สังคมไม่รับเรื่องนี้ไปทำต่อ ไม่มีสื่อมากระพือ มันก็ไปต่อไม่ได้ ฉะนั้นองค์ความรู้วิชาการ สื่อสารมวลชน ภาคประชาชนต้องขับเคลื่อนพร้อมๆ กันเป็น ๓ ปาร์ตี้ สำหรับเรื่องนี้เวลาสิบปีมันสุกงอมพอดี ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราสู้กันมาสิบปีกว่าจะสำเร็จ ฉะนั้นคิดจะทำอะไรตอนนี้ต้องเริ่มพูดแล้ว อย่างเช่นการจัดการแบบองค์รวมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราไม่ควรจะดูชายหาดเพียงลำพังหรือเปล่า ควรต้องดูไปข้างล่างบ้าง ถ้าเริ่มพูดตอนนี้บางทีมันอาจจะสำเร็จในอีกสิบปีข้างหน้า

seawall02

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ ต้องทำให้การกัดเซาะชายฝั่งเป็นสาธารณภัยและภัยพิบัติ”

อภิศักดิ์ ทัศนี
Beach for life

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ ต้องทำให้การกัดเซาะชายฝั่งเป็นสาธารณภัยและภัยพิบัติ ตอนนี้ยังไม่เป็นภัยพิบัติ ก็ไม่สามารถเยียวยา แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เวลาเกิดปัญหา กัดมาถึงบ้านแล้วเยียวยาไม่ได้เพราะติดเงื่อนไขว่าไม่ใช่ภัยพิบัติ ผู้ว่าราชการจังหวัดทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็เรียกร้องโครงสร้างแบบชั่วโคตร ต้องศึกษาต่อไปอีก ๒-๓ ปี บ้านหายไปหมดแล้ว หาดหายไปแล้ว สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว แล้วก็ได้โครงสร้างแข็งที่ไม่สอดรับกับการดำรงชีวิต
สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากนี้คือผลักดันให้การกัดเซาะชายฝั่งเป็นภัยพิบัติ ตอนนี้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งยังเรียกว่าเป็นภัยที่คาดเดาได้ เป็นปัญหาของพื้นที่ตรงนั้น เมื่อไม่ได้ถูกนิยามว่าเป็นภัยพิบัติ การดึงงบประมาณมาใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่สามารถทำได้ เวลาเกิดสาธารณภัยคนไม่สามารถใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่ถ้าเป็นภัยพิบัติทางท้องถิ่นสามารถเยียวยา

การกัดเซาะในปัจจุบันมีที่เป็นลักษณะชั่วคราว เมื่อไม่ได้อยู่ในนิยาม อยู่ๆ คลื่นลมมาแรงแล้วกัด เกิดผลกระทบกับบ้านเรือน พอร้องขอความช่วยเหลือ ท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจในการจัดการภัย ถ้าร้องมาที่ส่วนกลาง การทำกำแพงกันคลื่นก็เข้าสู่การทำอีไอเอ ผ่านหรือไม่ผ่านเป็นอีกเรื่อง

การเป็นสาธารณภัยก็เพื่อหาทางทำให้บ้านเรือนอยู่ได้อย่างปลอดภัย เมื่อประสบภัย เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ เรื่องนี้ต้องเป็นวาระให้แก้ไข ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ

เรายังต้องทำมาตรการอื่นๆ ต่ออีก อย่างแรกคือเรื่องอีไอเอที่สำเร็จแล้ว เรื่องนี้จะเป็นวาระเร่งด่วนต่อไป ถ้าทำได้ การร้องขอจากท้องถิ่นไปยังส่วนกลางจะลดลง มาตรการที่เป็น soft solution หรือมาตรการชั่วคราวจะเกิดขึ้นได้มาก การจัดการปัญหาโดยท้องถิ่นก็จะเกิดขึ้นได้มากขึ้น

seawall03

จุดเปลี่ยนคือเขาปูพรมโครงการ แล้วทุกพื้นที่ลุกขึ้นมาสู้ เป็นแรงหนุนให้สิ่งที่สู้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้น”

กรรณิการ์ แพแก้ว
มูลนิธิภาคใต้สีเขียว

ประกาศนี้ก้าวหน้ากว่าเดิม ของเดิมกำหนดว่าต้อง ๒๐๐ เมตรขึ้นไปถึงต้องทำอีไอเอ แต่ตอนนี้ทุกขนาด มันเป็นสิ่งที่พวกเราเรียกร้องกันมาตลอด ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นว่า เขาไปหั่นโครงการ ซอยโครงการให้สั้นลง ทั้งที่จริงสร้างต่อกันเป็นพรืดเพื่อเลี่ยงกระบวนการทำอีไอเอ ประกาศแบบนี้ถือเป็นประกาศที่ก้าวหน้า
ก้าวหน้าที่สองคือควบคุมไปถึงเอกชน ตามเกาะอย่างสมุยมีปัญหาเยอะมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของเอกชน รีสอร์ทสร้างเขื่อนป้องกันพื้นที่ของตัวเอง แต่สร้างผลกระทบกับพื้นที่ข้างๆ บางแห่งพื้นที่ข้างๆ ไม่ได้ประกอบธุรกิจ แต่ทำให้เขาเสียหาย แล้วเขาไม่สามารถเรียกร้องกับใครได้ การครอบคลุมไปถึงเอกชนมันมากกว่าที่เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาดเรียกร้อง ประกาศมันก้าวหน้าในสองส่วนนี้
ระยะเวลาสิบปีนานเกินไปมาก ทั้งๆ รายงานอีไอเอเป็นสิ่งพื้นฐานที่ต้องทำในทุกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อยู่แล้ว พอปลดออกจากการทำอีไอเอก็บ่ายเบี่ยงว่าฉันตั้งคณะกลั่นกรองขึ้นมา การกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องเดือดร้อน ต้องรีบแก้ปัญหาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข เป็นสิ่งที่เราได้ยินจากกรมโยธามาตลอด เขาพูดแต่บำบัดทุกข์บำรุงสุข แต่ส่วนใหญ่ดูแลพื้นที่เอกชนบางกลุ่ม แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นเขาไม่พูดถึง ไม่พูดว่าพื้นที่สาธารณะหายไปแค่ไหน พื้นที่หัวท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบเขาไม่พูด
มันเป็นการต่อสู้ที่นานมาก จุดเปลี่ยนคือเขาปูพรมโครงการ แล้วทุกพื้นที่ลุกขึ้นมาสู้ ไล่ๆ กันเลยตั้งแต่ปี ๒๕๕๙-๒๕๖๐ ๒๕๖๐-๒๕๖๑ เป็นแรงหนุนให้สิ่งที่สู้สัมฤทธิ์ผลเร็วขึ้น
กรมโยธาทำกำแพงที่ไหน วิธีเคลื่อนไหวจะไม่เหมือนโครงการอื่น มันมีเรื่องอิทธิพล ข่มขู่ คุกคาม รุนแรงและเร็วมาก ออกมาจัดการคนที่ส่งเสียง เกิดปัญหาขัดแย้งในชุมชนหนัก คนที่ออกมายื่นหนังสือ ออกมาให้สัมภาษณ์ถูกคุกคาม สุดท้ายก็ต้องไปยกมือสนับสนุนเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในชุมชนได้

seawall04

ดีใจมากๆ ที่ตอนนี้ต้องทำอีไอเอแล้ว ไม่ใช่นึกอยากจะสร้างก็สร้างได้”

มัยมูเนาะ ชัยบุตรดี
กลุ่มนักรบผ้าถุง ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ที่จะนะมีเรื่องราวมากมายที่ชุมชนเราลุกขึ้นมาต่อสู้ เราต่อสู้มาตลอด จนมาถึงเรื่องชายหาด เราเป็นกลุ่มแรกที่ฟ้องกรมโยธาเรื่องชายหาด ต่อมาก็มีโครงการอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่จะนะอีก ท่าเรือน้ำลึกอีก บางครั้งลืมไปเลยว่ามีเรื่องชายหาด เราไม่ได้ติดตาม เพราะเรามีเรื่องราวเยอะมาก

ดีใจมากๆ ที่ตอนนี้ต้องทำอีไอเอแล้ว ไม่ใช่นึกอยากจะสร้างก็สร้างได้ ในเวทีต่างๆ เราพยายามจะเรียกร้องให้ทำอีไอเอมาตลอด ทุกครั้งเราเข้าร่วมเวทีก็พยายามบอกให้ทำอีไอเอ เพราะไม่ทำอีไอเอมันเสียหายต่อประเทศไทย เสียหายต่อชายหาด

พอมีเรื่องอีไอเอกลับเข้ามา ก็ทำให้พลิกฟื้น จะทำให้ชายหาดกลับขึ้นมาอีกครั้ง การที่จะทำอะไรง่ายๆ มันไม่ใช่แล้ว มันต้องศึกษา

ชายหาดบ้านเราที่สะกอม ตอนนี้ระวังไม่ให้กรมโยธาเข้าไปทำเขื่อน เพราะมันจะกัดกินไปเรื่อยๆ เรากำลังเฝ้าดูอยู่ว่าเขาจะเข้ามาทำเขื่อนอีกหรือเปล่า

พอต้องกลับมาทำอีไอเออีกครั้ง มันน่าจะอุ่นใจขึ้น อุ่นใจมากๆ เลยว่า คุณจะทำเขื่อน กำแพงกันคลื่น หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ มันต้องมีอีไอเอ ต้องดูก่อน ต้องศึกษาก่อนว่าจะทำได้ยังไง