เรื่อง : นพรุจ สงวนจังวงศ์
ภาพ : นพรุจ สงวนจังวงศ์ และ ธัชธรรม โตสกุล

การทำสารคดีจะสนุกอย่างไร หากไม่ได้เดินทางไปยังสถานที่จริง พบเจอกับผู้คนจริงๆ สัมผัสและบันทึกประสบการณ์จริงกลับมา

ประสบ “ประแส” ประสาค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๘

กว่าสิบแปดปีแล้ว ที่ค่ายสารคดีสร้าง “คนบันทึกสังคม” ไม่ใช่แค่เรียนรู้ในห้อง แต่พาคนที่เดินเข้ามา ออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก ซึมซับวิธีทำงานสารคดี

ปีนี้มาด้วยแนวคิด “EcoLiving ดิน ฟ้า ป่า น้ำ” ชวนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างชาว “ประแส”

prasobprasae02

“ตำบลปากน้ำประแส” เป็นชุมชนริมทะเลในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง อดีตเมืองท่าที่ชาวเลเคยร่ำรวยจากประมง พลุกพล่านด้วยผู้คน และเป็นชุมชนคนจีนมาก่อน กระทั่งความเสื่อมถอยเริ่มมาเยือนจากผลพวงนโยบายรัฐและกลุ่มคนภายนอก ชีวิตชีวาในเมืองนี้ก็หยุดนิ่ง หลงเหลือเป็นชุมชนเล็กๆ พื้นที่ราว ๔.๘ ตารางกิโลเมตร กับประชากรเพียง ๕,๐๐๐ กว่าชีวิต ถึงอย่างนั้นก็ยังอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและประเด็นน่าสนใจมากมาย หลายอย่างเป็นเรื่องใหญ่สวนทางกับขนาดของชุมชน เกี่ยวโยงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ผูกพันกับท้องทะเลและธรรมชาติมายาวนานหลายชั่วอายุคน

คงน่าเสียดายที่จะให้นักบันทึกสังคมหลายสิบคนมุ่งประเด็นเดียวกัน ค่ายสารคดีจึงออกแบบเส้นทางสำรวจไว้หลากหลาย ให้ชาวค่ายที่มีความสนใจแตกต่างได้เลือกตามความสมัครใจ มีโอกาสติดตามดูการทำงานของกลุ่มที่เลือกประเด็น “ถนนวัฒนธรรม” ใช้เรียกเส้นทางยุทธศาสตร์ที่ตัดผ่านตลาดชุมชนเก่าแก่ ย้อนความได้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นตลาดจับจ่ายใหญ่ที่สุดในพื้นที่ มากด้วยของกินของใช้ แม้แต่สิ่งบันเทิงใจอย่างมหรสพหรือโรงฝิ่น ปัจจุบันถูกปรับปรุงสวยงามพร้อมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแต่ยังคงรักษามนต์เสน่ห์เดิมที่เคยมี เต็มไปด้วยบ้านอาคารไม้แบบดั้งเดิมพร้อมผู้คนที่ยังคงประกอบสัมมาชีพไปตามวิถี ทั้งแม่ค้า คนหาปลา หรือแม้แต่ช่างตัดผม คนหนุ่มสาวบ้างแก่บ้าง แต่ล้วนสืบทอดตำนานและชีวิตอันเก่าแก่ของที่นี่เสมือนพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีลมหายใจ เป็นประโยชน์ให้ชาวค่ายสารคดีรุ่นที่ ๑๘ ได้ประเด็นสัมภาษณ์เก็บข้อมูล สมชื่อถนนวัฒนธรรม

บนถนนเส้นเดียวกันยังมี “เส้นทางเคย” ชวนให้หาความหมายว่าจะเล่าเรื่องราวอะไร คิดตามไม่ยาก หากไม่ละเลยภาชนะที่ใส่สิ่งมีชีวิตตัวเล็กจิ๋วคล้ายกุ้ง มันคือ “เคย” สัตว์เศรษฐกิจ ตัวเล็กแต่รสชาติยิ่งใหญ่ ทำได้หลากหลายเมนู หนึ่งในนั้นคือ “กะปิเคย” อันเลื่องชื่อที่เป็นของฝากจากวิถีชีวิตให้คนที่มาเยือนประแสนำกลับไป

prasobprasae07

คุณป้านงเยาว์ ชาวบ้านที่เลี้ยงชีพด้วยการช้อนเคยจากแม่น้ำประแสขึ้นมาแปรรูป เป็นกะปิบ้าง ทอดขายบ้าง ทำมานานจนผูกพันเป็นชีวิตที่เคียงคู่ไปกับสายน้ำ สาธิตวิธีการทำ ตั้งแต่เริ่มยกกระชอนเคยขึ้นจากน้ำ จนถึงตอนเปลี่ยนมันเป็นอาหาร และบอกเล่าประสบการณ์ที่เธอมีต่อสิ่งมีชีวิตตัวน้อยเหล่านี้

เช้าวันที่สอง แต่ละคนแยกย้ายไปเก็บเรื่องราวที่สนใจต่อ ถือโอกาสมุ่งสู่ “ป่าชายเลน” พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของชุมชน เป็นที่หมายตาของนักท่องเที่ยวมากมายที่อยากเดินบนสะพานไม้ยาวลัดเลาะเข้าไปในดงโกงกาง ป่าปลูกอันเกิดจากฝีมือมนุษย์ร่วมด้วยช่วยกัน จนได้ผลผลิตเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เชื่อว่าช่วยรักษาและคงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อม หากแต่ความจริงอีกแง่ที่ลืมนึกถึงคือผลกระทบที่เกิดจากการดูแลธรรมชาติโดยปราศจากความเข้าใจ ว่าแต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นสันดอนทรายและชายหาดขนาดใหญ่ อุดมไปด้วยระบบนิเวศดั้งเดิม กระทั่งถูกโกงกางป่าปลูกบุกเข้ามาทำลาย

ได้สัมภาษณ์ลุงชโลม ชาวบ้านในพื้นที่ผู้อยู่กับแหล่งธรรมชาตินี้มายาวนาน แบ่งปันความทรงจำที่มีต่อต้นไม้ สันทราย และชายหาด ซึ่งคนรุ่นปัจจุบันไม่อาจมองเห็นว่าเปลี่ยนไป พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของป่าชายเลนว่าเป็นดังลมหายใจให้คนในชุมชน

ยังมีอีกหลายเส้นทางที่ไม่อาจติดตามไปได้ครบ อาศัยชมผลงานอันเกิดจากความพยายามของชาวค่ายสารคดีแต่ละคน ในรูปแบบของงานเขียน งานภาพ และวิดีโอสั้นๆ ทั้งเรื่องราวชาวประมงท้องถิ่นที่ถูกนโยบายและกฎหมายจากรัฐเบียดเบียนของกลุ่ม “ประมงพื้นบ้าน” หรือกลุ่ม “คานเรือ” ที่เล่าเรื่องศาสตร์และศิลป์ที่อู่ต่อและซ่อมเรือ ตลอดจนชีวิตของเหล่าผู้เฒ่าชาวประแสที่ยังคงมีไฟรับใช้ชุมชนจากกลุ่ม “ชุมชนผู้สูงวัย” เหมือนได้รู้จักประแสแบบย่อส่วนตามประสาคนสารคดี อีกหนึ่งประสบการณ์ที่ค่ายนี้มอบให้มา

prasobprasae19

ตัวเองในวัย ๒๑ ปีก็รู้สึกเช่นเดียวกับ ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร ชาวค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๘

“สนุกมาก มีหลายประเด็นที่เราตั้งคำถามได้ตลอด ได้เห็นพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านจริงๆ ขณะเดียวกันเราก็ได้รับมุมมองเกี่ยวกับปัญหาผ่านการรับฟังเสียงของชาวบ้านที่มันอาจจะตกหล่นระหว่างทางตอนที่สื่ออื่นเลือกนำเสนอ”

พอได้สัมผัสประสบการณ์ลงพื้นที่ทำงานสารคดีของพวกเขา บางทีปีหน้าอาจจะมาขอร่วมเป็นนักบันทึกสังคมรุ่นถัดไปบ้าง

prasobprasae20