๏ อัคนีเนตรนี้อัค   คีโชน เนตรฤๅ
ยืนแย่อย่างยักษ์โขน ออกเต้น
กางกรกดสองโคน ขานีด เน้นนอ
แก้ตะคริวริ้วเส้น แต่แข้งตลอดแขนฯ

จ่าจิตรนุกูล

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๒๘) - อัคคีเนตร

(ถอดความ) ฤๅษีอัคคีเนตร ผู้มีเปลวไฟลุกโชนในดวงตา ยืนทำท่าเหมือนท่าเต้นของตัวยักษ์ในการแสดงโขน คือกางขาย่อตัวลง มือสองข้างกดที่โคนขาทั้งสอง ท่านี้ใช้แก้ตะคริวตามแข้งขาและแขน

จนถึงบัดนี้ ยังค้นไม่พบหลักฐานเอกสารที่อ้างอิงนาม “ฤๅษีอัคคีเนตร” แต่หากแปลคำนี้เป็นภาษาไทยตรงๆ จะได้ว่า “ตาไฟ” ตรงกับโคลงที่ว่าฤๅษีตนนี้ มีไฟลุกโชนในดวงตา (“อัคคีโชนเนตร”) ช่างผู้เขียนรูปจึงเขียนกอไม้สองฝั่งให้ลุกเป็นเปลวเพลิงตามนามของท่านด้วย

ชื่อ “ฤๅษีตาไฟ” มีไปปรากฏในตำนานท้องถิ่นต่างๆ มากมาย ถือเป็นนามติดปากคนไทย คู่กับ “ฤๅษีตาวัว” เช่นตำนานพื้นบ้านแถบเมืองโบราณศรีเทพในจังหวัดเพชรบูรณ์ เล่าถึงสาเหตุที่เมืองร้างไปว่า ยังมีฤๅษีตาวัวกับฤๅษีตาไฟเป็นสหาย ปลูกอาศรมอยู่ใกล้กันบนเขา

วันหนึ่งฤๅษีตาไฟเกิดไปเล่าแก่ลูกศิษย์ผู้เป็นโอรสเจ้าเมือง ว่าบ่อน้ำใกล้ๆ อาศรมสองบ่อนั้น น้ำบ่อหนึ่ง หากใครไปอาบเข้าจะถึงแก่ความตาย วิธีแก้คือต้องตักน้ำจากอีกบ่อมาราดรด จึงจะฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาใหม่ ลูกศิษย์ฟังแล้วค้านว่า “ไม่เชื่อ!” ฤๅษีตาไฟจึงต้องสาธิตให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ โดยมีข้อแม้ว่าโอรสเจ้าเมืองต้องให้คำมั่นสัญญา ว่าเมื่อรดน้ำจากบ่อแรกจนฤๅษีตาไฟตายไปแล้ว ให้รีบไปตักน้ำจากอีกบ่อมาชุบชีวิตด้วย แต่ปรากฏว่าพอทำการทดลองให้ดูจริงๆ โอรสเจ้าเมืองเห็นอาจารย์แดดิ้นไปต่อหน้าแล้วคงตื่นตกใจ จึงเผ่นหนีกลับเข้าเมืองไปเสีย

ฝ่ายฤๅษีตาวัว เห็นฤๅษีตาไฟหายหน้าหายตา ไม่มาเยี่ยมเยียนเหมือนเคย จึงตามไปดูที่อาศรม ครั้นเดินผ่านบ่อน้ำมรณะเห็นน้ำในนั้นเดือดพล่านก็รู้ได้ว่าต้องเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้ว เมื่อพบซากศพเพื่อนจึงรีบตักน้ำจากบ่อชุบชีวิตมารดให้ฤๅษีตาไฟฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง

ด้วยความแค้น ฤๅษีตาไฟจึงเสกวัวพยนต์ขึ้นตัวหนึ่ง เอาพิษร้ายบรรจุไว้ในท้อง แล้วปล่อยให้เดินลงไปยังพระนคร ทหารรักษาเมืองเห็นผิดสังเกตจึงให้ปิดประตูเมืองทั้งหมด วัวนั้นก็เดินวนเวียนรอบกำแพงเมือง พร้อมกับส่งเสียงร้อง “มอ มอ” ดังกึกก้องอยู่ถึง ๗ วัน

พอครบวันที่ ๗ วัวคงเงียบเสียงลง ท้าวพระยาเมืองนั้นจึงให้ทหารแง้มประตูเมืองดู ทันใดนั้นวัวพยนต์กลับวิ่งปราดย้อนเข้าไป พร้อมกับกลายเป็น “ระเบิดพลีชีพ” ท้องวัวระเบิดออก ไอพิษร้ายพวยพุ่งคละคลุ้งไปทั่ว สังหารชาวเมือง รวมถึงพระราชากับทั้งพระญาติวงศ์ จนสูญสิ้น

เรื่องที่เล่ามานี้ดัดแปลงจาก “ตำนานเมืองศรีเทพ” ใน “วารสารเมืองโบราณ” ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑ (มกราคม – มีนาคม ๒๕๓๒) ซึ่งกล่าวด้วยว่า ดร. ควอริทช์ เวลส์ (H. G. Quaritch Wales) นักโบราณคดีอังกฤษผู้เคยเดินทางเข้าไปสำรวจเมืองโบราณศรีเทพในทศวรรษ ๒๔๗๐ ให้ทัศนะว่าตำนานเรื่องนี้อาจมีเค้าความจริง เช่นเมืองศรีเทพอาจถูกทิ้งร้างไป ด้วยสาเหตุจากโรคระบาดก็เป็นได้


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ