๏ สวามิตรคุกเข่าแล้ว    เหลียวพักตร์ ผินแฮ
วสิษฐเหยียบยันสลัก    เพ็ชรเคล้น
กรขวาจับบาทชัก    เฉวียงฉุด แขนแฮ
โรคตะคริวกร่อนเส้น    หย่อนได้หลายเดือน

พระญาณปริยัติ

สวามิตรและวสิษฐ

(ถอดความ) ฤๅษีสวามิตรลงนั่งคุกเข่า เอี้ยวตัวหันหน้ากลับมา ขณะที่ฤๅษีวสิษฐช่วยใช้เท้าเหยียบยันตรง “สลักเพชร” พร้อมกับใช้มือขวาจับขาข้างหนึ่ง ส่วนมือซ้ายฉุดแขนทั้งสองข้างของสวามิต ท่านี้บรรเทาอาการลมตะคริวได้หลายเดือน

ท่าฤๅษีดัดตน ๘๐ ท่า ตามตำราโคลงภาพชุดนี้ เกือบทั้งหมดล้วนทำได้ด้วยลำพังตน มีเพียงสองท่าเท่านั้นที่ต้องอาศัยสองแรง คือต้องให้ฤๅษีอีกตนมาช่วยจับ และท่านี้คือหนึ่งในนั้น

แม้แพทย์แผนไทยใช้คำว่า “สลักเพชร/สลักเพ็ด” เรียกตำแหน่งข้อที่กระดูกมาต่อสวมเข้าด้วยกัน แล้วขยับเขยื้อนได้ เช่น “ตะโพกสลักเพชร” คือข้อต่อระหว่างกระดูกเชิงกรานกับหัวกระดูกต้นขา และ “ขากรรไกรสลักเพชร” คือข้อต่อระหว่างขากรรไกรบนและล่าง ซึ่งทำให้คนเราสามารถอ้าปากหุบปากได้ แต่โดยทั่วไปมักนิยมใช้กันตามความหมายแรกที่หมายถึงตรงตำแหน่งสะโพกเป็นหลัก เช่นในหนังสือพจนานุกรม “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) พิมพ์ครั้งแรกสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๑๖ เก็บคำว่า “สลักเพ็ชร” ไว้ว่า “คืออไวยวะที่ตะโพก, เป็นที่ขายักไปยักมานั้น.”

ดังนั้นหากมีใครพูดถึงอาการ “สลักเพชรจม” ย่อมเข้าใจกันว่า หมายถึงอาการปวดบริเวณสะโพก

ฤๅษีวสิษฐ์กับฤๅษีสวามิตรปรากฏนามในบทละคร “รามเกียรติ์” ฉบับของรัชกาลที่ ๑ คู่กันเสมอ ว่าคือผู้เป็นใหญ่ในหมู่ฤๅษี และเป็นที่เคารพนับถือของวงศ์กษัตริย์อยุธยา ท่านคือผู้ประกอบการพิธีอภิเษกท้าวทศรถ และยังเป็นพระอาจารย์ของโอรสทั้งสี่ของพระองค์ ได้แก่ พระราม พระลักษมณ์ พระพรต พระศัตรุต ดังนั้น เมื่อทศกัณฐ์ใช้ให้กากนาสูรไปรังควาญบรรดาฤๅษี นักพรตเหล่านั้นพากันไปฟ้องแก่สองท่านผู้ยิ่งใหญ่นี้

จำจะแจ้งเหตุเภทภัย
แก่ท่านไทผู้ชื่อพระวสิษฐ์
กับพระมหาสวามิตร
คิดแล้วก็พากันรีบมา

เมื่อได้รับคำร้องเรียน ฤๅษีทั้งสองจึงรีบเข้าเฝ้าท้าวทศรถ กราบทูลขอพระรามพระลักษมณ์ให้ไปช่วยปราบกากนาสูรด้วยเถิด หรือต่อมา ฤๅษีวสิษฐ์กับฤๅษีสวามิตรยังเป็นผู้นำพาพระรามพระลักษมณ์ไปในการพิธียกมหาธนูโมลี (ศรวิเศษที่พระอิศวรเคยใช้ปราบยักษ์ตรีบูรัม) ณ เมืองมิถิลา อันเป็นเหตุให้พระรามได้นางสีดามาเป็นมเหสี


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ