Kangar-Pattani Line รอยต่อ จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 460

เปิดกูเกิลเอิร์ท (Google Earth) ค่อยๆ เลื่อนดูโลกสีฟ้าทั้งใบ จะเห็นบริเวณที่เป็นทางเชื่อมแคบ ๆ ระหว่างแผ่นดินใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นคือภาคใต้ของไทยที่เชื่อมคาบสมุทรอินโดจีนกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย  อีกแห่งหนึ่งคือปานามาที่เป็นกิ่วโค้งเชื่อมระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปอเมริกาใต้

ซูมเข้าไปตรงบริเวณพื้นที่สงขลาและปัตตานี ถ้าเราลากเส้นสมมุติจากฝั่งทะเลอ่าวไทยเฉียงต่ำลงเล็กน้อยไปทางฝั่งทะเลอันดามัน นักพฤกษศาสตร์เรียกว่าเส้น Kangar-Pattani Line ถือเป็นเส้นแบ่งการกระจายของพืชที่พบในแผ่นดินตอนเหนือกับแผ่นดินตอนล่าง คือพืชตอนเหนือจะไม่กระจายพันธุ์ลงไปตอนล่างเลยเส้นนี้ และพืชจากตอนล่างก็ไม่กระจายพันธุ์สูงขึ้นไปเลยเส้นนี้

บริเวณสงขลาและปัตตานีจึงเป็นรอยต่อระหว่างเหนือกับใต้ที่อาจพบชนิดพืชทั้งจากตอนเหนือและตอนล่างมาอยู่ด้วยกัน

ปัจจัยสำคัญที่แบ่งพื้นที่เป็นสองส่วนก็คือสภาพภูมิอากาศ  ทางตอนเหนือมีสามฤดู ร้อน ฝน หนาว (ที่เริ่มหายากขึ้นเรื่อย ๆ)  ส่วนทางตอนใต้มีสองฤดู คือร้อนกับฝน  ฝนช่วงกลางปีได้รับจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เหมือนทางตอนเหนือ ส่วนช่วงปลายปีซึ่งลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้ทางตอนเหนือเป็นฤดูหนาว แต่เมื่อพัดผ่านทะเลอ่าวไทยก็กวาดความชื้นมาตกทางตอนใต้ รวมเป็นฤดูฝนต่อเนื่องกันทั้งปีถึงราว ๙ เดือน

ถ้าซูมกูเกิลเอิร์ทถอยมาอีกนิดจะเห็นเทือกเขาที่วางตัวแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งแต่นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง ลงมาถึงสตูล สงขลา คือแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช ซึ่งเหมือนเป็นแกนกระดูกสันหลัง  ตั้งแต่อดีตกาล ฝนได้กัดเซาะหินให้กลายเป็นตะกอนเล็ก ๆ ลงมาทับถมเป็นแผ่นดินปะทะกับคลื่นลมทะเล และเกิดเป็นแนวสันดอนทรายชายฝั่งยาวขนานกับเทือกเขา

รอยต่อแผ่นดินกับทะเลแถบนี้ คือป่าชายหาดและป่าสันทราย ชายฝั่งที่วิวัฒนาการมาตามธรรมชาติ ช่วยรักษาสมดุลระหว่างน้ำจืดจากฝนที่ตกลงมาเก็บอยู่ในสันดอนทราย กับน้ำเค็มจากทะเลที่รุกแทรกเข้ามาอยู่ข้างใต้สันดอนทราย  ทำให้แนวสันดอนทรายชายฝั่งอุ้มน้ำจืดไว้ปริมาณมากได้โดยไม่ระเหยหายไปหมดหากไม่มีพืชพรรณปกคลุม

เมื่อวันที่ผู้คนเดินทางมาถึง บริเวณสูงสุดของเนินสันดอนทรายจึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมของการตั้งถิ่นฐาน เพราะไม่ถูกน้ำท่วมในหน้าน้ำ และยังมีน้ำจืดให้ใช้จากแหล่งน้ำใต้สันดอนทราย  ต่อมาจึงเติบโตเป็นเมืองโบราณที่เป็นศูนย์กลางการปกครองและค้าขาย เช่น เมืองลิกอร์หรือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองสทิง หรือซิงกอรา หรือสงขลา เมืองปาตานีหรือปัตตานีก็ล้วนตั้งอยู่บนแนวสันดอนทรายชายฝั่ง ซึ่งมีเส้นทางโบราณเชื่อมชุมชนและเมืองสำคัญถึงกัน

ตำแหน่งที่เป็นรอยต่อของธรรมชาติจึงเป็นรากฐานสำคัญให้เกิดรอยต่อของวัฒนธรรมจากผู้คนหลายเชื้อชาติ ทั้งจากตอนเหนือและตอนใต้ จากทางบกและทางทะเล ทั้งสยาม จีน แขกมลายู แขกเปอร์เซีย และหลากศาสนา ผี พุทธ มุสลิม

หลายร้อยปีผ่านไป ทุกวันนี้รอยต่อธรรมชาติและรอยต่อวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ป่าชายหาดและป่าสันทรายชายฝั่งถูกทำลายกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ถนน และเมือง จนแทบไม่เหลือแม้หย่อมเล็ก ๆ ขณะที่พืชพันธุ์ท้องถิ่นอย่างต้นสนทราย (Baeckea frutescens) ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่วิวัฒนาการยาวนานบนสันดอนทรายชายฝั่ง ถูกแทนที่ด้วยต้นสนทะเล ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ต่างถิ่นที่นำเข้ามาปลูก จนเป็นภาพชินตาของคนสมัยนี้ว่าคือไม้ประจำริมหาด

เช่นยวกับความเจริญและความทันสมัยของเมืองสมัยใหม่จากต่างถิ่น ก็รุกคืบเข้าแปรเปลี่ยนผู้คนและเมืองเก่า

สมดุลบนรอยต่อ จากอดีต ปัจจุบัน ถึงอนาคต คืออะไร จะวิวัฒน์หรือพัฒนาไปในทิศทางไหน

คงต้องให้ธรรมชาติและผู้คนแห่งนั้นเป็นผู้กำหนด

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี