๏ อิสีอุศัพเนตรเจ้า      ตำหรับ
สรรพว่านประกอบกับ      เวทใช้
เท้าแขนพับเพียบทับ      หัตถ์แอ่น องค์เอย
แก้ทั่วสรรพางค์ให้      เสื่อมสิ้นสรรพลมฯ

พระองค์เจ้าศิริวงศ์

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๓๐) อุศัพเนตร

(ถอดความ) ฤๅษีอุศัพเนตร เจ้าตำหรับว่านยาและเวทมนต์ แสดงท่าเท้าแขนสอดมือไว้ใต้ขาที่นั่งพับเพียบ (“เท้าแขนพับเพียบทับหัตถ์”) แล้วแอ่นตัว ท่านี้ช่วยแก้ลมทั่วสรรพางค์ คือทั้งร่างกาย

คำว่า “อิสิ” (หรือสะกด “อิสี”ในที่นี้) คือรูปภาษาบาลีของคำสันสกฤตว่า “ฤๅษี” นั่นเอง ตัวอย่างเช่นป่าอิสิปตนะ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา หมายถึงที่ชุมนุมของฤๅษี

ดังนั้น วรรคแรกของโคลงที่ว่า “อิสีอุศัพเนตร” จึงหมายถึงฤๅษีผู้มีนามว่า “อุศัพเนตร”

ผู้เขียนยังค้นไม่พบที่มาของนามนี้ ว่ามีต้นทางมาจากวรรณคดีเรื่องไหน หากแต่คำว่า “อุศัพ” ฟังดูใกล้เคียงมากกับอีกคำหนึ่ง คือคำว่า “อุสภ/อุสุภ” ซึ่งแปลว่าวัวตัวผู้

หากเป็นคำเดียวกันแล้วไซร้ เราย่อมสามารถถอดนาม “อุศัพเนตร” ของฤๅษีตนนี้กลับมาเป็นชื่อไทยๆ ได้ทันทีว่า “ฤๅษีตาวัว” เข้าชุดกับ “ฤๅษีตาไฟ” ซึ่งเคยปรากฏตัวในคณะฤๅษีดัดตนชุดวัดพระเชตุพนฯ มาแล้ว ในนาม “อัคคีเนตร”

และหากเป็นเช่นนั้นจริง พิจารณาตามความในโคลงบทนี้ (“เจ้าตำหรับสรรพว่านประกอบกับเวท”) ย่อมหมายความว่าคนไทยแต่โบราณนับถือเอาอิสีอุศัพเนตร หรือฤๅษีตาวัว เป็นครูบาอาจารย์ในสายวิชาว่านยาและเวทมนต์

นามฤๅษีตาไฟกับฤๅษีตาวัว แทบจะถือเป็นนาม “ฤๅษีประจำบ้าน” ที่ติดปากคุ้นหูคนไทยมาช้านาน มีอ้างอิงไว้ในตำนานพื้นบ้านพื้นเมืองหลายเรื่อง นอกจากตำนานเมืองศรีเทพที่เคยเล่าไปแล้ว ยังมีตำนานที่อ้างต่อๆ กันมาว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ ขุดพบลานเงิน (คือแผ่นเงินที่แผ่บางเป็นชิ้นยาว รูปร่างอย่างใบลานที่ใช้จารคัมภีร์) ที่เจดีย์พระบรมธาตุนครชุม เมืองกำแพงเพชร มีข้อความกล่าวถึงฤๅษีสามตน คือฤๅษีพิราลัยฤๅษีตาไฟฤๅษีตาวัว ร่วมกันสร้างพระพิมพ์ ถวายพระยาศรีธรรมาโศกราช อันเป็นเรื่องที่บรรดา “เซียน” ในแวดวงพระเครื่องเชื่อถือกันมั่นคงมาจนปัจจุบัน

แต่ดูเหมือนว่าจนบัดนี้ยังไม่เคยมีผู้ใดพบต้นฉบับจารึกลานเงินดังกล่าวเลย


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ