สัมภาษณ์ : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โรคโควิดระบาดในปี ค.ศ.2019 หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ “สงขลา”

สำหรับคนนอกจังหวัด “อ.เมืองสงขลา” อาจไม่เป็นที่คุ้นหูเท่ากับ “อ.หาดใหญ่” ด้วยหาดใหญ่ แม้จะเป็นต่างอำเภอ แต่ก็มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าอำเภอที่ตั้งศูนย์ราชการเพราะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา หาดใหญ่เป็นชุมทางรถไฟ ชุมทางถนนลงสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่นับว่ายังเป็นที่ตั้งสนามบินนานาชาติสำคัญ

เมื่อเกิดโรคระบาด การค้าการลงทุนกว่าร้อยละ 90 หยุดชะงัก ภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือภาคการท่องเที่ยว จนเมื่อเข้าสู่ปีที่สองและสามของการระบาดมีสื่อทีวีช่องหนึ่งถึงกับรายงานว่าหาดใหญ่ตายแล้ว

หลังโควิดระบาดลดลง “สารคดี” ลงไปติดตามภาพรวมเศรษฐกิจสงขลา สนทนากับหอการค้าจังหวัด ถึงความจริงที่ว่า “สงขลา-หาดใหญ่” เป็นอย่างไรหลังยุค post-covid

 ทรงพล จังศิริวัฒนธำรง ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา

“หอการค้าเป็นตัวแทน เป็นกระบอกเสียงของภาคเอกชน รับฟังข้อติดขัดจากทางภาคธุรกิจ ผ่านเวที กกร. จากนั้นเราจะนำไปหาทางแก้กับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ผมเพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เท่าที่ทราบปัญหาใหญ่ในยุคโรคระบาดที่กระทบกับธุรกิจคือการล็อกดาวน์ ความไม่แน่นอนว่าจะปิดเมืองหรือเปิดเมืองเมื่อใด

“สถานการณ์แบบนั้นทำให้ภาคเอกชนแย่ไปหมด เพราะมีแต่รายจ่ายไม่มีรายได้เข้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หาดใหญ่นั้นอาศัยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์ พอการท่องเที่ยวไม่มี หลายกิจการก็ต้องปิดตัวลง มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลในช่วงนั้นก็มาทดแทนรายได้ที่หายไปได้ไม่มากนัก มาตรการลักษณะนี้จะสงผลดีกับเมืองท่องเที่ยวที่อาศัยนักท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า

“เมื่อโรคระบาดซาลง กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงปลายปี ๒๕๖๕ ดีขึ้นเพราะมีความร่วมมือของหลายฝ่ายจัดงานหลายงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น Hello HATYAI, HATYAI Hard Sale (แสดงดนตรี/ขายของ/กันยายน ๒๕๖๕) โดยงานเหล่านี้จะจัดในพื้นที่ต่อเนื่องกัน ก็ค่อนข้างได้ผลเพราะมีการบอกต่อกันในหมู่นักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ คนจึงเข้ามามาก อัตราจองห้องพักสูงขึ้น

“พอปีใหม่ ๒๕๖๖ ธุรกิจด้านที่เกี่ยวเนื่องจึงทยอยกลับมาเปิด บางแห่งก็ค่อยๆ ฟื้นตัว เช่น โรงแรมมี ๓ ตึก กลับมาเปิดก็เริ่มเปิดเพียงตึกเดียว ระยะนี้ยังเกิดธุรกิจแบบใหม่เพราะคนมองเห็นโอกาส ช่วงหลังหอการค้าและภาคเอกชนพยายามสร้างกิจกรรมที่จะทำให้คนมาเที่ยวอยู่ในพื้นที่นานขึ้น”

horkankasongkla02

“เห็นด้วยกับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวสงขลาในระยะหลังโรคระบาดสงบลง หลายเรื่องดีขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่าสองพื้นที่หลักในจังหวัดคือ อ.หาดใหญ่ และ อ.เมืองสงขลา มีจุดขายต่างกัน อ.เมืองสงขลา มีประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิตรอบทะเลสาบ เป็นที่ตั้งหน่วยงานรัฐ แต่ อ.หาดใหญ่เป็นเมืองค้าขาย เป็นเมืองที่เหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ระบบคมนาคมพร้อม เป็นจุดเชื่อมการคมนาคมไป จ.ปัตตานี นราธิวาส สตูล และยะลา ผู้กำหนดนโยบายต้องเข้าใจเรื่องนี้

“นักท่องเที่ยวในประเทศเริ่มกลับมาสนใจสงขลามากขึ้น ตอนที่มีโครงการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา เกิดพื้นที่ศิลปะ ย่านร้านค้า ร้านอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ ผมทราบว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กำลังผลักดันพื้นที่รอบทะเลสาบ 3 จังหวัด ที่มีสงขลา 8 อำเภอ รวมอยู่ด้วยให้มีการท่องเที่ยวด้านวิถีชุมชนและธรรมชาติ หาดใหญ่ก็มีโจทย์ว่าจะทำอย่างไiให้คนนอกพื้นที่มาลงทุน ไม่ใช่มีแต่การลงทุนของคนในจังหวัด ไม่ให้ทุนกระจุกตัวแต่ในเมืองหลวง

“รัฐควรสนับสนุนให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดช่วง มีกิจกรรมใหญ่ที่ดึงคนได้ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมา อ.หาดใหญ่ ทำรายได้ให้ประเทศสูง แต่งบประมาณลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานน้อยมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับจังหวัดในภาคอีสาน ถนนเข้าหาดใหญ่ยังมีแค่ ๔ เลน ถนนในเมืองส่วนมากเก่า รถไฟทางคู่ควรจะขยายจากชุมพรลงมาให้ถึงหาดใหญ่ เพื่อไปเชื่อมกับมาเลเซีย นโยบายสนับสนุนการจัดประชุมก็ควรมีงบประมาณสนับสนุน ไม่ใช่ให้เอกชนระดมเงินกันเอง”

horkankasongkla03

“ผมพยายามผลักดันสงขลาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษคล้าย Eastern Economic Corridor-EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) รัฐลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้สิทธิทางภาษีกับนักลงทุน ลงทุนผลิตทรัพยากรคนเช่น ตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติดึงดูดคนต่างชาติมาในพื้นที่ เพราะเราปล่อยให้สงขลามีสภาพแบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ ที่ผ่านมา เมืองโตเพราะภาคเอกชน แต่ในอนาคต ทางการควรลงทุนและผลักดัน ยิ่งปี 2668 สงขลาจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ในบางชนิดกีฬา ควรจะเตรียมระบบต่างๆ ของเมืองเช่น การกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมืองให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่