ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

ข้าวหอมมะลิ GI กับโรงไฟฟ้าชีวมวล
jasminerice02

ทุ่งกุลาร้องไห้ครอบคลุมจังหวัดยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ สินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ประชาชนกลุ่ม “เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา” ได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้คัดค้านการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ กรณีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

“เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา” นำโดยประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด เห็นว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ หรือ “ค.๒” ที่กำลังจะเกิดขึ้นวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) จำนวน ๒ ฉบับ ได้แก่ ๑) “EIA โรงงานผลิตน้ำตาล” และ ๒) “EIA โรงไฟฟ้าชีวมวล” จะเป็นเวทีรับรองการตั้งโรงงานในเขตทุ่งกุลาร้องไห้

ถึงแม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะถูกกันไว้ ไม่ให้เป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่

ทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลายังเกรงว่าเวทีแสดงความคิดเห็นจะปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อสถานที่จัดประชุมเป็นพื้นที่ของบริษัทเอกชน อาจเกิดการขัดขวางไม่ให้ประชาชนที่เห็นต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็น ดังที่เคยมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย

jasminerice03 1
jasminerice03 2
หน้าปกเอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ หรือ “ค.๒” เพื่อจัดทำร่างรายงาน EIA โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล และ EIA โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย

อ้างอิงตามเอกสารเรื่อง โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด อ้างถึง หนังสือสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ สม ๐๕๐๑/๒๙๗๘ ที่ทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลานำมายื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงว่าภาคอีสานเป็นแหล่งปลูกข้าวอินทรีย์ร้อยละ ๘๐ ของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งครอบคลุมจังหวัดยโสธร สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ที่เหลืออีกราวร้อยละ ๒๐ อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบน

เอกสารที่ทางเครือข่ายนำมายื่นข้างต้นยังอ้างถึง เอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ ๒ ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงงานผลิตน้ำตาลของบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด ที่แบ่งออกเป็น ๒ ฉบับ คือ ๑) เอกสารประกอบโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) (เข้าถึงได้ที่นี่ ) และ ๒) เอกสารประกอบโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล (เข้าถึงได้ที่นี่ ) ซึ่งเตรียมไว้ประกอบการประชุม “ค.๒”

jasminerice04
jasminerice05
พื้นที่รัศมี ๕๐ กิโลเมตรรอบที่ตั้งโครงการอยู่ในทุ่งกุลาร้องไห้ประมาณ ๑,๕๒๖,๓๐๒ ไร่ หรือร้อยละ ๓๑.๐๘ โดยอยู่ในโครงการ ไม่ส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ของบริษัท จากภาพ แถบสีดำคาดเฉียงเป็นเขตทุ่งกุลาร้องไห้ (ภาพ : เอกสารประกอบการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ ๒ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาล)

เอกสารประกอบโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) อธิบายความเป็นมาว่า บริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด เป็นการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมน้ำตาล ส่งเสริมการปลูกและขยายพื้นที่ปลูกอ้อย ลดต้นทุนการเพาะปลูกด้วยการอุปกรณ์เครื่องมือการเกษตร กลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัทมีประสบการณ์ปลูกและส่งเสริมอ้อยมานานกว่า ๓๐ ปี ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก

วัตถุประสงค์หลักของบริษัทคือตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อยที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยปัจจุบันได้รับสิทธิจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ อก ๐๖๐๔/๓๒๓ ให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลที่กำลังการผลิต ๒๔,๐๐๐ ตันต่อวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการไอน้ำและไฟฟ้าให้เพียงพอกับกำลังการผลิตของโรงงานผลิตน้ำตาล โดยดำเนินการในที่ดินของโรงงาน ใช้ “ชานอ้อย” เป็นเชื้อเพลิง ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบกังหันไอน้ำ ผลิตไฟฟ้า ๓๒ เมกะวัตต์ เพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงงานผลิตน้ำตาลเท่านั้น

ชานอ้อยเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการหีบสกัดอ้อยในขั้นตอนการผลิตน้ำตาล เป็นเศษที่เหลือของของต้นอ้อยที่หาบเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลออกแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทุกประเภทที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ ๑๐ เมกกะวัตต์ขึ้นไป ต้องทำรายงานอีไอเอ (EIA)

ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้กันพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็น เขตไม่ส่งเสริมการปลูกอ้อย เนื้อหาหน้า ๑๒ ของเอกสารประกอบโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล ระบุว่าพื้นที่รัศมี ๕๐ กิโลเมตรรอบที่ตั้งโครงการ ส่วนของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ขนาดพื้นที่ ๑,๕๒๖,๓๐๒ ไร่ อยู่ในโครงการ ไม่ส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาเห็นว่า บริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด และบริษัทเครือข่ายของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ยังคงไว้ซึ่งพื้นที่ตั้งโรงงานในเขตทุ่งกุลา

ที่ตั้งโรงงานทั้งหมดของสมานฉันท์กรับใหญ่มีพื้นที่ประมาณ ๔๕๘.๗๑ ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่โรงงานผลิตน้ำตาล ๓๗๐.๐๙ ไร่ และพื้นที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ๘๘.๖๒ ไร่ ส่วนที่ตั้งโรงงานของน้ำตาลบ้านโป่งมีพื้นที่ประมาณ ๕๘๙.๑๘ ไร่ แบ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำตาล ๕๐๕.๗๕ ไร่ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ๘๓.๔๓ ไร่ เป็นที่ดินแปลงใหญ่ต่อเนื่อง

เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพื้นที่ครอบครองทุ่งกุลาร้องไห้ของบริษัทสมานฉันท์กรับใหญ่กับบริษัทน้ำตาลบ้านโป่งว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างน้อย ๒ ประการ ตามเอกสารระบุว่า

() พื้นที่ทุ่งกุลาฯของน้ำตาลบ้านโป่งยังมีเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยเขตที่ ๑๐ พื้นที่ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ไร่อยู่ในนั้นด้วย ส่วนเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของสมานฉันท์ฯทั้ง ๑๐ เขต ไม่อยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาฯดังกล่าวแต่ประการใด

() ในเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของน้ำตาลบ้านโป่งทั้ง ๑๐ เขต ในรัศมี ๕๐ กิโลเมตรรอบโรงงาน ได้กันพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวสูงสุดประมาณ ๕๘๐,๐๐๐ ไร่ ออกไป ส่วนเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของสมานฉันท์ฯทั้ง ๑๐ เขต ในรัศมี ๕๐ กิโลเมตรรอบโรงงาน ทับพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวสูงสุดประมาณ ๕๘๐,๐๐๐ ไร่

พร้อมจำแนกว่าพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ข้างต้นขนาด ๑,๕๒๖,๓๐๒ ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นต่างๆ ดังนี้

() พื้นที่ตาม ‘ประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้’ ทะเบียนเลขที่ สช ๕๐๑๐๐๐๒๒ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่มีพื้นที่ทั้งสิ้น ,๑๐๗,๖๙๐ ไร่ ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ๙๘๖,๘๐๗ ไร่ จังหวัดสุรินทร์ ๕๗๕,๙๙๓ ไร่ จังหวัดศรีสะเกษ ๒๘๗,๐๐๐ ไร่ จังหวัดมหาสารคาม ๑๙๓,๘๙๐ ไร่ จังหวัดยโสธร ๖๔,๐๐๐ ไร่

() พื้นที่ตาม ‘เป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค พ..๒๕๖๖๒๕๗๐’ ที่สำนักงานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้จัดทำขึ้นเพื่อถ่ายทอดแผนระดับชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓(..๒๕๖๖๒๕๗๐) แผนรายสาขาและนโยบายของรัฐบาล ลงสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ที่ต้องพัฒนาภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มุ่งสู่ฐานเศรษฐกิจชีวภาพที่มีมูลค่าสูง พัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งสัมฤทธิ์ รวมทั้งพื้นที่ที่มีศักยภาพอื่น ๆ ให้ได้มาตรฐานเกษตรปลอดภัยและอินทรีย์ โดยพัฒนากระบวนการผลิตแปรรูป และจำหน่ายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้งระบบ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร หรือเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

jasminerice07 3
“เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา” ประมาณ ๗๐ คน เดินทางมาศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อยื่นคำร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้คัดค้านการจัดประชุม “ค.๒” (ภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดร้อยเอ็ด, เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา)

หนูปา แก้วพิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ที่ร่วมเดินทางมายื่นหนังสือ ณ ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด ชี้แจงว่า “เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา” ประกอบด้วยสภาองค์กรชุมชนตำบลโนนสวรรค์ สภาองค์กรชุมชนตำบลสระบัว กลุ่มนาแปลงใหญ่อำเภอปทุมรัตต์ นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ทางเครือข่ายเห็นว่าเมื่อบริษัทมีความปรารถนาที่จะไม่ทำลายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงระดับโลก ด้วยการเว้นพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ประมาณ ๑,๕๒๖,๓๐๒ ไร่ ออกไปจากเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยของบริษัทแล้ว ก็ควรแสดงความปรารถนาดีและจริงใจต่อพี่น้องประชาชนคนทุ่งกุลาฯ ด้วยการย้ายพื้นที่ตั้งโรงงานอันเป็นแหล่งก่อมลพิษหลายชนิดที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตออกไป

“การย้ายที่ตั้งโรงงานออกไปจากทุ่งกุลาฯ เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะมั่นใจหรือเชื่อใจได้ว่า หากทางบริษัทหรือบริษัทใดในเครือข่ายจะไม่พลิกลิ้นกลับมาทำลายพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ด้วยการกำหนดเป็นเขตส่งเสริมการปลูกอ้อยในภายภาคหน้า พวกเราขอเรียกร้องให้ย้ายโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล กับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยไปตั้งนอกพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพราะเรากังวลว่ามลพิษชนิดต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมา ไม่ว่าเถ้า เถ้าลอย ธาตุคาร์บอน จะกระทบต่อพื้นที่การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์แดนอีสาน ซึ่งเป็นสินค้า GI”

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ นิยามความหมายของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI (Geographical Indication) ว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อมีความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยสำคัญ ๒ ข้อ ได้แก่ ธรรมชาติ และ มนุษย์ เมื่อชุมชนอาศัยลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าในท้องถิ่น ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษจากพื้นที่ดังกล่าว

คุณลักษณะพิเศษนี้หมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ตัวอย่างสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา อาทิ กล้วยไข่กำแพงเพชร เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ เสื่อจันทบูร มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพร้ว ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น

ทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ลงมารับเอกสารจากเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา และร่วมรับฟังข้อมูลสถานการณ์จากชาวบ้านในห้องประชุม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

ผลการหารือทางผู้ว่ารับปากว่าจะแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เลื่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ออกไป เน้นย้ำให้กระบวนการรับฟังมีความเป็นกลางและเป็นไปตามข้อกฎหมาย กำหนดวันและสถานที่ใหม่จะแจ้งอีกครั้ง

“ชาวบ้านมาเขาก็มีเหตุผลของเขา เราก็รับฟัง อะไรที่ทำได้เราก็ทำ การยกเลิกประชาพิจารณ์เรายกเลิกไม่ได้ แต่การเลื่อนไปเรามีเหตุผลที่จะขอเลื่อนได้ เปลี่ยนสถานที่ไป หาสถานที่ที่เป็นกลาง พยายามทำให้เป็นกลางที่สุด ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลาย ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมในการแสดงความคิดเห็น”

ในส่วนข้อเรียกร้องให้ย้ายโรงงานออกจากพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นสินค้า GI ของท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดให้ความเห็นเบื้องต้นว่า

“ถ้าจะบอกให้ยกเลิกคำร้องที่จะขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน เราทำไม่ได้เพราะมีกฎหมายกำหนด ในเรื่องการรับคำร้อง มีขั้นตอนการก่อตั้งก่อสร้างอยู่ เรียงลำดับหนึ่ง สอง สาม สี่ เริ่มตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์ การเสนอไปยังคณะกรรมการส่วนกลาง การพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม อีกไกล ตอนนี้มันเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น เมื่อติดเรื่องประชาพิจารณ์ก็ดำเนินการไป ผลเป็นอย่างไรก็ต้องรอฟัง ว่าหลังจากเลื่อนเป็นวันอื่นแล้วผลประชาพิจารณ์เป็นอย่างไร เราก็ยังไม่รู้ว่าประชาชนที่มาเป็นส่วนใหญ่หรือความเห็นของคนส่วนน้อย ก็ใช้เรื่องประชาธิปไตยในการพิจารณา

“การยกเลิกการยื่นคำร้องขอจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมนั้นยกเลิกไม่ได้ เพราะเขาก็เป็นคนไทย มีสิทธิในการยื่นคำร้องเหมือนกัน เรื่องนี้ต้องมีการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมาย มันเป็นสิทธิของผู้ประกอบการ ถ้าเกิดตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นสถานที่ที่ใช้ไม่ได้นะ สงวนหวงห้ามไว้สำหรับการปลูกข้าวหอมมะลิ มีกฎหมายกฎเกณฑ์รองรับก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเกิดไม่มี คนไทยทุกคนมีสิทธิเลือกประกอบอาชีพ เลือกถิ่นที่อยู่ เพราะฉะนั้นเราก็ไปห้ามเขาไม่ได้”

ภายหลังการพูดคุยหารือ มีการออกเอกสารราชการส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท สมานฉันท์กรับใหญ่ จำกัด เรื่อง ขอคัดค้านการประชุมรับฟังความคิดเห็น กรณีโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) สิ่งที่แนบไปคือสำเนาหนังสือร้องเรียนที่ทางเครือข่ายนำมายื่น ลงนาม ทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด

jasminerice08
เอกสารที่ “เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา” นำมายื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด
jasminerice09
ภายหลังการประชุมหารือร่วมกันระหว่างเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีการออกหนังสือคัดค้านการประชุมรับฟังความคิดเห็น ส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท

หลายปีที่ผ่านมา สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่กับโรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่ที่มีไร้อ้อยขนาดใหญ่ คือโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล

โรงไฟฟ้าประเภทนี้อาศัยวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร คือ ชานอ้อย หรือ กากอ้อย เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หากไม่ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ก็มักจะมีผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นตามมา คือ มลพิษทางอากาศ ฝุ่นควัน PM2.5 มลภาวะทางเสียง กลิ่น น้ำ กระทั่งความเครียดและความรำคาญของผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง

หนึ่งในนั้นอาจรวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งอย่างทุ่งกุลาร้องไห้

อ้างอิง