๏ ยืนเหนี่ยวข้อเท้าเชิด      หัดถ์เห็น ยากแฮ
แก้เสียดทรวงเส้นเอ็น      ขอดได้
นารทเศกไม้เป็น      ปลิงเกาะ กระบี่พ่อ
ยิ้มเยาะวานรให้ เหือดร้ายรังแกฯ

พระศรีวิสุทธิวงศ์

ตามรอยฤๅษีดัดตน (31) นารท

(ถอดความ) ท่านี้หาดูได้ยาก คือยืนเอามือเหนี่ยวข้อเท้าข้างหนึ่งไว้ แก้อาการเสียดที่อก เส้นเอ็นขอด นี่คือฤๅษีนารท ผู้เสกไม้เท้าเป็นปลิงไปเกาะหนุมาน เย้ยเยาะพญาวานรที่มารังแกท่าน

เรื่องที่กล่าวถึงในโคลงบทนี้มาจาก “รามเกียรติ์” ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ จับตอนเมื่อพระรามมอบหมายภารกิจให้หนุมานเหาะไปดูลู่ทางเดินทัพข้ามไปยังเกาะลงกา แต่เนื่องจากไม่รู้จักทาง ขุนกระบี่จึงร่อนลงมาสอบถามจากฤๅษีนารท จึงเพิ่งรู้ว่าตัวเองเหาะมาไกล “เกินลงกา” แล้ว สรุปคือต้องย้อนกลับไป แต่หนุมานฉุกคิดสงสัยว่า เหตุใดมีฤๅษีมาพำนักอยู่ใกล้เมืองยักษ์เมืองมารเช่นนี้เลยคิดลองดี สุดท้ายถูกฤๅษีซ้อนกล เสกไม้เท้าเป็นปลิงลอยอยู่ในบ่อ เมื่อหนุมานก้มลงกินน้ำ ก็ถูกปลิงเสกเกาะหมับเข้าที่ลูกคาง

๏ บัดนั้น
คำแหงหนุมานชาญสมร
ตกใจโจนด้วยฤทธิรอน
สองกรกระชากสะบัดไป
ความเกลียดหลับตาปลิดฉุด
ปลิงนั้นจะหลุดก็หาไม่
ยิ่งคร่ายิ่งทึ้งสักเท่าไร
ยิ่งยาวออกไปทุกที

คือไม่ว่าจะออกแรงดึงทึ้งสักเท่าใด นอกจากปลิงจะไม่หลุดแล้ว ตัวมันยังยืดยาวออกไปเรื่อยๆ สุดท้ายหนุมานต้องซมซานไปกราบกรานขอความช่วยเหลือและยินยอมขอโทษแต่โดยดี ฤๅษีนารทจึงปลดปลิงออกจากคางให้ พลันปลิงนั้นกลับคืนเป็นไม้เท้าของพระฤๅษีดังเดิม แล้วหนุมานจึงออกเดินทางต่อไป

เรื่องราวตอนนี้ของนารทดาบสกับหนุมานน่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะยังมีปรากฏเป็นภาพศิลาจำหลักเรื่อง “รามเกียรติ์” ประดับพนักระเบียงรอบพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนฯ หรือ “วัดโพธิ์” ในกรุงเทพฯ ด้วย โดยสลักเป็นเหตุการณ์ในเรื่องต่อเนื่องกันตามลำดับถึงสี่ภาพ แต่ละภาพมีโคลงประกอบ โคลงบทหลังสุดของตอนนี้ ปิดท้ายไว้ว่า

๏ วายุบุตรสารภาพแพ้     รับผิด
นารทเมตตาจิตร     ปลดให้
พลางถามที่ทางทิศ      อสุเรศ
ดาบสบอกจำไว้      เสร็จแล้วลาจรฯ

ทั้งนี้ ผู้สนใจเรื่องภาพสลักหินเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดโพธิ์ สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือเรื่อง “ศิลาจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” (๒๕๓๙) ของ ศ.ดร. นิยะดา เหล่าสุนทร ราชบัณฑิต


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ