๏ พระนารอทวายุเร้า ทรวงรัน ทำนา
ขัดเข่าขาแลจัน ทฆาฏร้าย
ฉวยเท้าท่ายืนหัน เหินเยี่ยง เหาะแฮ
มือหนึ่งคั้นเข่าซ้าย เสื่อมสิ้นสี่ลมฯ

สมเด็จพระสังฆราช

ตามรอยฤๅษีดัดตน (32) นารอท

(ถอดความ) ฤๅษีนารอท เกิดลม (“วายุ”) ขึ้นในอก ในเข่า ในขา และลมจันทฆาฎ ท่านจึงยืนเอามือข้างหนึ่งจับข้อเท้ายกขึ้นเหมือนดังท่าเหาะ (อย่างในภาพจิตรกรรม หรือท่ารำละคร) ส่วนมือที่เหลือนวดเฟ้นเข่าอีกข้างหนึ่ง ท่านี้ใช้บำบัดอาการลมได้ทั้งสี่ชนิด (ได้แก่ ลมอก ลมเข่า ลมขา และลมจันทฆาฏ ดังกล่าว)

คติความเชี่ออย่างไทยๆ นับถือเอาฤๅษีนารอท หรือที่มักสะกดว่า “นารอด” เป็นพระฤๅษีผู้มีฤทธิ์ตนหนึ่ง ว่าตามชื่อ ดูเหมือนถูกจับเข้าคู่กับฤๅษีนาไลย เป็น “นารอด-นาไลย” ทำนองเดียวกับชุดของฤๅษีตาวัว-ฤๅษีตาไฟ

ส่วนในทางวรรณคดี พบฤๅษีผู้มีนามว่านารอท ในกลอนบทละครเรื่อง “อุณรุท” ว่าเป็นที่นับถือของท้าวบรมจักรกฤษณ์ กษัตริย์แห่งเมืองทวารกา ผู้เป็นองค์อวตารของพระนารายณ์ ดังความตอนหนึ่งว่า

๏ เมื่อนั้น
ท้าวบรมจักรกฤษณ์รังสรรค์
เสด็จเหนือแท่นแก้วแพร้วพรรณ
ในสุวรรณปราสาทอลงกรณ์
พร้อมด้วยพระสนมอนงค์นาฏ
บำเรอบาทเป็นสุขสโมสร
เหมือนอยู่เกษียรสาคร
บรรจถรณ์ปฤษฎางค์นาคี
มีพระทัยถวิลจินดา
ถึงนารอทมหาฤๅษี
เคยสั่งสนทนาพาที
โดยในคดีทางธรรม์
แต่คิดคอยหาช้านาน
ไม่เห็นพระอาจารย์ฌานขยัน
หรือจะเกิดอาพาธโรคัน
จำจะไปยังบรรณศาลา

นอกจากนั้น ฤๅษีนารอทยังมีบทบาทอีกหลายตอนในเรื่อง “อุณรุท” เช่นพิธีอภิเษกพระไกรสุท อภิเษกพระอุณรุท และชุบชีวิตพระเพียรพิชัย


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ