
๏ ทิศภัยโพ้นผนวชข้าง เขาเขิน
ทิวพนัศชายเนิน ท่าน้ำ
ปรนนิบัติดัดองค์เจริญ ชนมชีพ พระนา
กุมกดธารกรค้ำ พ่างพื้นยืนยันฯ
กรมหมื่นไกรสรวิชิต
(ถอดความ) ทิศภัยออกบวชเป็นฤๅษี พำนักอยู่ที่ข้างเขาชายป่าริมท่าน้ำ ดัดตนท่านี้แล้วจะอายุยืน คือการยืนจับไม้เท้า (ธารกร) กดลงกับพื้น
ฤๅษีทิศภัย/ทิศไพ มาจากบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ตอนศึกบรรลัยกัลป์ กล่าวถึงหนุมานต่อสู้กับยักษ์บรรลัยกัลป์ โอรสของทศกัณฐ์กับนางกาลอัคคี แต่เมื่อจับตัวได้คราใด บรรลัยกัลป์ก็ลื่นหลุดมือไปทุกครั้ง ด้วยฤทธิ์ว่านยาที่อาบชะโลมมาถึงเจ็ดปีเจ็ดเดือน หนุมานจึงไปปรึกษาฤๅษีทิศไพว่าควรต้องทำเช่นไร
๏ เมื่อนั้น
พระทิศไพมหาฤๅษี
ได้ฟังวานรพาที
พระมุนีจะแจ้งด้วยปรีชา
จึ่งยื่นกรไปหยิบเอาฝุ่นทราย
มาเรี่ยรายปรายลงที่ตรงหน้า
แล้วจึ่งแกล้งกล่าววาจา
ว่าเหวยวานรผู้มีฤทธิ์
ซึ่งเอ็งจะล้างกุมภัณฑ์
จะให้บอกนั้นไม่ชอบกิจ
ด้วยตัวกูผู้เป็นบรรพชิต
ตั้งจิตแต่ที่จำเริญฌาน ฯ
แทนที่จะตอบด้วยวาจา พระฤๅษีทิศไพกลับกำทรายขึ้นมาโปรยปรายลงตรงพื้นเบื้องหน้า พลางเสพูดไปว่า จะให้ตนเองมาบอกวิธีสังหารผลาญชีวิตกันนั้น หาใช่กิจของผู้เป็นนักพรตนักบวชไม่
หนุมานเข้าใจอุบายที่ฤๅษีบอกใบ้ทันที เมื่อกลับไปต่อสู้อีกครั้งจึงซัดทรายสาดใส่ขุนยักษ์จนติดเต็มตัว สามารถจับถนัดมือ ไม่ลื่นหลุดอีกต่อไป แล้วเลยสามารถสังหารบรรลัยกัลป์ได้ในที่สุด
ต่อมาในตอนท้ายเรื่อง “รามเกียรติ์” หลังเสร็จศึกลงกา หนุมานเกิดเบื่อหน่ายเรื่องทางโลกจึงหลีกลี้ไปขอบวชอยู่กับฤๅษีทิศไพ
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ