ผู้เขียน : ภัทราภรณ์ ฮอย
ภาพ : ธนชิต สิงห์แก้ว

คนเก่าและความทรงจำ ประแส ในวันวาน
คุณตาชมมองดูภาพถ่ายในวันวานที่บันทึกช่วงเวลาในวันเก่าๆ ของประแส

เรือติด

“สมัยก่อน หว่านอวนจับปลาทีนึง ก็ได้เงินเป็นแสนแล้ว”

“ซิน” สมศิริ ชาญเชี่ยว เจ้าของมาหาสมุทรโฮมสเตย์ ไขความกระจ่างจากคำถามของฉันว่า “สมัยก่อนประแสเจริญยังไง” บทสนทนาระหว่างคนต่างถิ่นต่างกับคนท้องถิ่นดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ฉันเลือกสั่งชาดอกขลุ่ย เครื่องดื่มสีเขียวจางใส รสชาติเหมือนน้ำสมุนไพรอ่อนๆ เมนูขึ้นชื่อของประแสและเป็นเมนูแนะนำของคาเฟ่พี่ซิน อีกหนึ่งกิจการเล็กๆ ที่เธอเปิดคู่กับธุรกิจโฮมสเตย์

ซินอธิบายความเจริญของประแสในอดีตผ่านอาชีพประมงว่าในยุครุ่นพ่อของเธอ อาชีพประมงถือเป็นอาชีพหลักของคนประแส ทุกบ้านมีเรือเป็นของตัวเอง แทบจะทุกครอบครัวประกอบอาชีพประมง

“สมัยนี้เคยได้ยินแต่ ‘รถติด’ แต่สมัยก่อน ทุกวันมีแต่ ‘เรือติด’”

oldiesprasae02
ชุมชน คน วิถีชีวิตสองข้างฝั่งถนน ในประแส บอกเล่าผ่านภาพถ่ายในหนังสือประวัติศาสตร์ชุมชนประแส
oldiesprasae03
อัลบัมแห่งความทรงจำ สมบัติคุณค่าทางจิตใจของบ้านคุณป้าเล็ก เป็นขุนทรัพย์บันทึกอดีตที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชุมชนประแส
oldiesprasae04
ภาพเก่าเล่าใหม่ ภาพถ่ายที่บันทึกช่วงเวลาประเพณีงานบวชบนถนนสายวัฒนธรรมตรงสถานที่จริงตามในภาพ โดยป้าเล็กเล่าเรื่องราวผ่านภาพ

กราฟฟิตี้

ได้ฟังประแสในอดีต ก็ยิ่งอยากรู้เรื่องประแสมากกว่าเดิม

ออกจากร้านคาเฟ่ เลี้ยวขวามุ่งหน้าไปตามถนนสายวัฒนธรรม บ้านเก่าริมปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เดินทอดน่องเก็บบรรยากาศในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง

ลมจากริมน้ำด้านขวาทักทายมาเป็นระยะเมื่อเดินผ่านช่องว่างระหว่างบ้าน บ้านไม้แบบยกเสาสูงตามแบบพื้นที่ริมแม่น้ำและวิถีชีวิตการทำประมง บางบ้านมีกลิ่นอายไทย-จีน ผสมผสานท้องถิ่นของคนทะเล อย่างเรือนสูงโปร่งสองชั้น มีระเบียงไว้รับลมทะเลและชมวิวเรือที่แล่นผ่านไปผ่านมา ทุกบ้านมีช่องลมเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ประตูไม้บานเฟี้ยมมีให้เห็นอยู่เรื่อยไป

บันทึกหลักฐานเกี่ยวกับเมืองแกลง ชุมชนประแสนั้นปรากฏในสมัยอยุธยา มีพระสงฆ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชเมืองแกลง ชุมชนเริ่มเด่นชัดและมีความสำคัญมากขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยรัชกาลที่ 5

ชุมชนตั้งติดกับปากน้ำแม่น้ำประแส ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีสัตว์ทะเลมากมายหลายชนิด จนครั้งหนึ่งกลายเป็นเมืองประมงพาณิชย์ที่รุ่งเรืองและใหญ่ที่สุดในแถบตะวันออก ความเจริญดึงดูดคนต่างถิ่นให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานหาเลี้ยงชีพ ทั้งโรงฝิ่น ร้านขายยาจีน ร้านหนังสือ ร้านตัดผม โรงสี ร้านขายของชำ

ฉันเดินมุ่งหน้าไปตามทางสายวัฒนธรรม พบกราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือศิลปะที่ขีดเขียนบนกำแพง เป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวของประแส มีรูปเจ้าของบ้านที่เทศบาลจัดหาคนมาวาดภาพเหมือนไว้ กลิ่นทอดมันบนเตาถ่านหอมลอยเตะจมูก เสียงเครื่องยนต์เรือดังหึ่งๆ กลางน้ำลอยสลับกับเสียงกลุ่มชายสูงวัยคุยกันอย่างออกรสชาติ จู่ ๆ เท้าของฉันหยุดอยู่ที่หน้าร้านแห่งหนึ่งโดยสัญชาตญาณ ภาพตรงหน้าดึงดูดสายตาโดยไม่รู้ตัว

ฉันเดินก้าวเข้าไปในร้าน

oldiesprasae05
พ่อค้าแม่ค้ากับสินค้าของสดเต็มถาดรอการมาซื้อของลูกค้าในยามเช้าตรู่ หัวมุมตลาดสดชุมชนประแส กับภาพวาดกราฟฟิตี้บนฝาผนัง
oldiesprasae06
ความคึกคักและมีชีวิตชีวาของตลาดเช้า เป็นกิจวัตรประจำวันของชุมชนประแส

ภาพเก่า

“ของพวกนี้พี่เอาไปใช้ทำยาหมดเลยเหรอคะ”

ฉันถามหญิงวัยกลางคนที่กำลังจัดของอยู่ในร้าน พลางหันไปชี้ลังพลาสติกสีใสขุ่นขนาดกลางซึ่งวางซ้อนกันสี่ชั้น เรียงรายเป็นหน้ากระดาน กินพื้นที่เกือบครึ่งร้าน แต่ละลังมีกระดาษสีขาวแปะชื่อของที่บรรจุใส่อย่าง “พุทราจีน” “ดอกกระเจี๊ยบ” “เถาลิ้นเสือ” “เมล็ดข่อย” “เกษรบัวหลวง” “หัวว่านชักมดลูก” และสมุนไพรอื่นๆ อีกมากมาย

หยูกยาหลากหลายเรียงรายเต็มร้านกับกลิ่นหอมของสมุนไพรทำให้ฉันและผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาหวนนึกถึงอดีต

“ใช่จ้ะ พวกนี้พี่เอาไปทำยา ถ้าหาของสดได้จากป่าแถวนี้ ก็จะเอามาสับ แปรรูป ตาก แต่ถ้าหาของสดไม่ได้ก็จะเอามาจากจักรวรรดิ” หมายถึงแขวงหนึ่งในเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เมืองที่เต็มไปด้วยความคึกคัก

หญิงวัยกลางคนที่ไขความกระจ่างให้ฉันคือ “เล็ก” ภาวิณี ยอดบริบูรณ์ เจ้าของ “สมบูรณ์โอสถ” ร้านขายยาแผนโบราณที่เปิดขายมาตั้งแต่รุ่นทวด หรือที่เธอเรียกติดปากว่า “ก๋ง” จนมาถึงรุ่นเธอเป็นรุ่นที่สี่

เธอเล่าว่าประแสสมัยก่อนเจริญมาก ก๋งจึงตัดสินใจย้ายจากจันทบุรีมาเปิดร้ายยาที่ประแส ด้วยความเป็นเมืองท่า มีคนเข้าออกอยู่ตลอด จึงมีคนเข้ามาเปิดกิจการ และตั้งรกราก ถนนสมัยก่อนเป็นพื้นไม้แผ่นยาวๆ ทำให้มีเสียงกระทบกับรองเท้าเกี๊ยะซึ่งนิยมสวมกันในสมัยนั้น ดังก็อกแก็กๆ กังวานไปตลอดถนน โดยเฉพาะเดือนสิบสอง เป็นช่วงที่ครึกครื้นมากที่สุดของปี ไม่ว่าจะเป็นงานทอดผ้าป่ากลางน้ำ ประเพณีที่สะท้อนถึงความเป็นประแส และยังเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย การทอดผ้าป่าจัดขึ้นในเวลากลางวัน และลอยกระทงในเวลากลางคืนของวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ประเพณีทอดผ้าป่ายังทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การประกวดเรือ การประกวดเทพีนาวา การแข่งเรือ เป็นต้น

เพื่อให้เห็นภาพ เล็กลงทุนค้นภาพถ่ายสมัยก่อนจำนวนหนึ่งมาให้ฉันดู แม้ว่าภาพถ่ายจะเก็บมานาน บางภาพอายุเยอะกว่าเธอเองเสียอีก บางภาพก็เขียนกำกับด้านหลังไว้ว่า “ไม่ระบุปี” แต่ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี ไม่มีรอยขาด หรือเสียหายแม้แต่น้อย

ฉันเหมือนต้องมนต์สะกดกับภาพถ่ายขาวดำเก่าๆ สามสี่ใบ ที่ผ่านกาลเวลามานับร้อยปีจนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหม่น แต่เสน่ห์ของมันจับใจจนละสายตาไม่ได้ รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปช่วงเวลานั้น เป็นส่วนหนึ่งของประแส

รอยยิ้มผ่านภาพ ผู้คนเบียดเสียด เรือบรรทุกคนเต็มลำจนล้นออกมาด้านนอก สิ่งเหล่านี้ไม่อาจซ่อนความมีชีวิตชีวาของคนประแสในอดีตไว้ได้

oldiesprasae08
ช่วงเวลาเย็นๆ ใกล้ค่ำ ผู้คนที่อาศัยบนเส้นทางสายวัฒนธรรมมักมานั่งเล่นหน้าบ้าน พบปะพูดคุยกันอย่างกันเอง
oldiesprasae09
คุณตาช่างซ่อมร้านจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดของชุมชน กับภาพวาดหน้าคุณลุงบนผนังข้างบ้าน

โรงเรียนจีน

เยื้องจากร้านพี่เล็กทางซ้าย เป็นบ้านของ ชม วิเศษศิลปานนท์ ผู้อาวุโสของประแสวัย 92 ปีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว อดีตทำอาชีพค้าขาย เปิดร้านขายของชำ ชายชราบอกว่าเขาเป็นคนประแสที่หลงเหลือเพียงคนเดียวที่เคยเรียนโรงเรียนจีน “กงลิเผยเฉียว” เนื่องจากตอนนี้คนอื่นต่างล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว พร้อมกับชี้ที่ภาพถ่ายขาวดำใบหนึ่ง เป็นภาพหมู่นักเรียนโรงเรียนจีนยืนเรียงหน้ากระดานหลายแถวซ้อนกัน หนึ่งในนักเรียนนั้นก็คือเขา

การตั้งโรงเรียนจีนเกิดจากความเจริญที่หลั่งไหลเข้ามาในประแส ทำให้มีคนต่างถิ่นและคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนเข้ามาตั้งรกราก มีทั้งนักเรียนเชื้อสายไทยและเชื้อสายจีนปะปนกัน ส่วนหลักสูตรจะสอนโดยใช้ภาษาไทยและภาษาจีนปะปนกันตามรายวิชา

แม้กาลเวลาจะผ่านไป แต่ร่างกายชมยังคงแข็งแรง เดินคล่องแคล่ว จดจำเรื่องราวสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี พอคุยไปเรื่อยๆ ฉันจึงเข้าใจสาเหตุที่เขาแข็งแรงขนาดนี้ ชมเล่าว่าเพราะกิจวัตรประจำวันคือเดินเท้าไปยังเรือรบ ระยะทางจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร และเดินวนอีกสองสามรอบแถวๆ อนุสรณ์เรือรบหลวงประแส หรือที่คนที่นี่ชอบเรียกสั้นๆ ว่า “เรือรบ” ก่อนจะเดินกลับบ้าน

“เมื่อก่อนประแสเจริญมาก คึกคักมาก มีทั้งเรือเมล์ที่แวะมาจากกรุงเทพฯ มาระยอง แล้วค่อยมาแวะประแส เรือรับจ้างไปกรุงเทพฯ ก็มีนะ ส่วนโป๊ะไจ่จะส่งจำพวกผ้าม้วนที่เอามาตัดเป็นเสื้อ หัวหอม กระเทียม ยางพารา ถั่วลิสง ที่รับมาจากกรุงเทพฯ”

ชมบอกเล่าเรื่องราวอย่างออกรส น้ำเสียงแหบพร่าของวัยชรา ทว่าหนักแน่นแฝงด้วยความอบอุ่นอย่างน่าประหลาด

หลายคนคงสงสัยว่า “โป๊ะไจ่” คืออะไร คำตอบที่ได้รับทำให้ฉันร้องอ๋อ โป๊ะไจ่ที่ชายสูงวัยพูดเป็นภาษาจีน ก็คือ “เรือลำเลียงสินค้า” นี่เอง

oldiesprasae10
คุณตาหลี่ เจ้าของร้านตัดกางเกงเล ร้านดังของชุมชนประแสที่เปิดมานานจนเหลืออยู่เพียงร้านเดียวของชุมชน ช่วงเช้าๆ ตากับหลานตัวน้อยมักมานั่งเล่นบริเวณหน้าร้าน
oldiesprasae11
กลุ่มวัยรุ่นยุค 70 ในชุมชนประแส รวมกลุ่มกันทำสินค้าของฝากที่ระลึกจำหน่ายนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชน เป็นสินค้าแฮนด์เมดที่ใช้วัตถุดิบจากในชุมชน เช่นผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่ใช้สีของต้นโกงกาง

ตกร่อง

แต่ความเจริญของประแสก็ต้องหยุดชะงัก ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้เศรษฐกิจประแสซบเซา อีกทั้งปัญหาธรรมชาติ การกำหนดนโยบายของภาครัฐ รายได้ในชุมชนเริ่มหดหาย ร้านต่างๆ รวมถึงโรงหนังที่ชมเคยไปจึงต้องปิดตัวลงตามสภาพ เหลือไว้เพียงความทรงจำที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

“เมื่อก่อนหน้าบ้านก็มีไม้กระดานนั่งห้อยขาได้ เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรแบบนี้แล้ว” ฉันจับได้ถึงน้ำเสียงเจือความเสียดายของลุง

“จากถนนหน้าบ้านผมเป็นสะพานไม้หมดเลย ทำจากแผ่นไม้ยาวๆ แต่ตอนหลังเขาทำใหม่เป็นคอนกรีตหมด” เขาเว้นจังหวะพูดอึดใจหนึ่งก่อนจะพูดเสริมพลางชี้นิ้วไปหน้าบ้านของตน

บทสนทนาดำเนินไปเรื่อยๆ จน “หมู”ลูกสาวของชมกลับบ้านมาจากทำธุระ

หมูเล่าว่านอกจากอาชีพค้าขายแล้วเมื่อก่อนครอบครัวเธอยังเลี้ยงไก่ เมื่อได้ไข่ไก่ก็จะรวบรวมใส่แผงปั่นจักรยานส่งไปขายให้แม่ค้าที่ตลาด ระหว่างเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายก็ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะพื้นถนนที่ปูแผ่นไม้ตามแนวยาวทำให้ล้อแคบๆ ของจักรยานมักตกร่องแผ่นไม้เป็นประจำ ทำให้ไข่ไก่หกกระจัดกระจายเต็มถนนอย่างน่าเสียดาย เธอเล่าติดตลกพร้อมส่ายหัวเบาๆ ใบหน้าเจือด้วยรอยยิ้ม

เรื่องไข่ไก่หกกระจัดกระจาย ทำให้ฉันนึกถึงสิ่งที่ “เล็ก” ร้านขายยาเพิ่งเล่าด้วยสีหน้าชื่นชม

“คนเมื่อก่อนก็เก่งเหมือนกันนะ ปั่นจักรยานกันเก่งมาก พื้นไม้เป็นรูเป็นร่องก็ยังหลบได้ทรงตัวกันเก่งมาก”

พื้นถนนปูแผ่นไม้จึงเป็นเรื่องปราบเซียนที่คนในประแสทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะบ้านที่ขายไข่ไก่อย่างบ้านของชม

…….

แดดยามบ่ายแผดเผาไม่เกรงใจใคร ผู้คนต่างเดินไปตามหมุดหมาย ฉันสดับฟังเสียงธรรมชาติ บันทึกเรื่องราวและความรู้สึกทั้งหมดไว้ในใจ

ถึงแม้ว่าตอนนี้จะไม่มีถนนปูแผ่นไม้ ไม่มีโรงหนัง ไม่มีโรงเรียนจีน และประแสไม่คึกคักเท่าแต่ก่อน

แต่ประแสยังคงเป็น “ความทรงจำ” ที่ไม่อาจลบหายไปไหน ยังคงเบิกบานในใจคนประแสไม่เสื่อมคลาย

เพราะคนประแส ไปที่ไหนก็เป็นคนประแส