เรื่อง : ฉัตรชัย สิทธิจรรยากุล
ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์, ฟ้ารุ่ง แสงภักดี

วันวานที่เคยหวานชื่น เวียนกลับคืนรุ่งเรือง ประแส
สมยศ บัวคลี่ วัย 72 ปี อดีตชาวประมง กับสามล้อบริการท่องเที่ยวคู่ใจ (ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์)

“ช่วงชีวิตวัยรุ่นหายไปกับการทำอาชีพประมง มาเลิกเอาตอนพายุเกย์ ขึ้นมาทำงานบนบก ไม่รู้จะทำอะไร เลยมาซื้อสามล้อขับบรรทุกปลา รับจ้างทั่วไป พอเรือรบเปิดก็หันมาทำสามล้อท่องเที่ยวร่วมกับเทศบาล”

สมยศ บัวคลี่ อายุ 72 ปี ชายสูงวัยรูปร่างกำยำแข็งแรง ผมหงอกยาวมัดรวบมาดเซอร์ เขาเป็นคนกาญจนบุรี ย้ายมาอยู่ชุมชนปากน้ำประแสตอนอายุ 13 ก่อนจะออกทะเลทำประมงตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ผันตัวมาขับรถสามล้อบริการนักท่องเที่ยว

สมยศเล่าว่าชุมชนปากน้ำประแสสมัยก่อน เป็นชุมชนที่มีความเจริญ ผู้คนคับคั่ง มั่งคั่งทางการเงิน เศรษฐกิจดี ผู้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ขายของดี รถเข้าออกชุมชนประแสไม่ขาดสาย นับเป็นย่านเศรษฐกิจอีกแห่งของจังหวัดระยอง ผู้คนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง

หน้าแดงเรื่อ ตามองเหม่อไปข้างหน้าของชายสูงวัยประหนึ่งคิดถึงนึกย้อนวันวานของชีวิต เล่าด้วยน้ำเสียงเรียบเสมอถึงความพลิกผันของตัวเอง

“ตอนนี้พอเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็เริ่มดี ถ้านักท่องเที่ยวไม่เข้ามา ประแสก็จมเลยนะ ตอนนี้เริ่มดีแล้ว คนเริ่มมา”

ช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัยของชุมชน ทำให้คนที่นี่ต่างปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามกระแสโลกสมัยใหม่มากขึ้น แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่สิ้นลาย

prasaeolddays02
สูงวัยมาดเซอร์ ผู้มีความสุขในการช่วยเหลือพัฒนาชุมชน (ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์)

วันวานแห่งความรุ่มรวย

“ประมงสมัยนั้น พอเขาเข้ามาฝั่ง มีเงินจากทำประมง เขาก็มาซื้อกางเกงไปใส่ พอเขากลับบ้าน ก็ซื้อกลับไปฝากญาติด้วย เพราะเขาเคยใช้ ติดใจ ผ้าเราเนื้อดี เราเย็บเอง ใช้ทน”

วัลลภ นิตยสกุล หรือ “เจ็กหลี” ชายสูงวัยผิวขาวรูปร่างสันทัด อารมณ์ดี อายุ 73 ปี เจ้าของร้านกางเกงหลีบูติก คนเก่าแก่ที่อาศัยอยู่ชุมชนปากน้ำประแสมาตั้งแต่เด็ก เล่าถึงยุคเฟื่องฟู เดิมทีครอบครัวของวัลลภเป็นคนจีน มาอาศัยตั้งหลักแหล่งทำการค้าขายตัดกางเกงชาวเล หรือกางเกงจีนเป็นธุรกิจครอบครัว

เมื่อก่อนครั้งอาชีพประมงรุ่งเรือง ทุกอย่างค้าขายดี รวมไปถึงกางเกงชาวเล และสินค้าของชุมชน ผู้คนหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือคนต่างถิ่นที่เข้ามาค้าขาย หรือมาทำงานเป็นลูกเรือทำประมง โดยเฉพาะคนอีสาน

ด้วยปัจจัยหลายอย่างทางครอบครัว ประจวบเหมาะชุมชนประแสเป็นย่านเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขาเลือกหารายได้จากสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

“ธุรกิจนี้เริ่มตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่แล้ว พี่ชายเขาก็มาทำ แต่พอพี่ชายเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ก็ให้ผมมาทำต่อ ผมจึงสืบสานมาให้ดีข้นเรื่อย ๆ”

เจ๊กหลี เล่าด้วยน้ำเสียงภูมิใจในอาชีพ สิ่งที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษ แววตาชื่นมื่นผ่านทะลุกระจกแว่นอันหนาทึบ

เช่นเดียวกับ นรา ชาญวัตถาภรณ์ หญิงชราร่างเล็ก หน้าอวบอิ่มด้วยรอยยิ้มวัย 74 ปี นรุ่นหลานของครอบครัวคนจีน อาศัยอยู่ชุมชนปากน้ำประแสมาตั้งแต่เด็ก เห็นความงดงามผลิบานของประแสมาก่อน และทำงานหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ยังเด็ก จนปัจจุบันเป็นเจ้าของแสงมุกดาโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นโฮมสเตย์แห่งแรกของชุมชนปากน้ำประแส และเป็นประธานชุมชนคนรักประแส

ในสมัยก่อน เด็กที่นี่ จะไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ส่วนใหญ่จะทำอาชีพ หรือสืบทอดอาชีพจากพ่อแม่

“สมัยเด็ก บ้านคนจีนอย่างป้า ทำขนมขาย อย่างพวกขนมไหว้เจ้า พอเป็นสาวก็ได้มาตัดเสื้อ รับจ้างทั่วไป เพราะเป็นคนไม่ได้เรียน เงินไม่ค่อยมี เลยทำทุกอย่าง ทำปลาเค็มก็เป็นนะ แล้วต่อมาก็ค่อยไปช่วยญาติเขาทำส่งปลาแช่แข็งไปกรุงเทพฯ “

ชุมชนปากน้ำประแสเคยเป็นเมืองท่าขนส่งสินค้ามาก่อน ไม่ว่าจะเป็นปลาแช่แข็ง สินค้าท้องถิ่น รวมไปถึงท่าเรือรับส่งผู้คน ที่ต้องการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ เมื่อเป็นชุมชนเมืองท่า ผู้คนจากหลากหลายสารทิศจะมาคับคั่ง ณ ที่แห่งนี้

คนชุมชนปากน้ำประแสจึงมีรายได้จากความมั่งคั่งในสมัยนั้น สร้างอาชีพของตัวเอง ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ พร้อมทั้งค่านิยมของคนในสมัยก่อนที่ไม่นิยมส่งลูกหลานเรียนหนังสือ จึงทำให้เด็กที่โตมาในชุมชนปากน้ำประแสทำงานหาเลี้ยงชีพมาตั้งแต่เด็ก

ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชน ล้วนหลอมสร้างพวกเขาให้รู้จักทำบางอย่างเพื่อหล่อเลี้ยงตัวเอง และเป็นตัวเขาอย่างที่เป็น

prasaeolddays03
ชมรมดนตรีอังกะลุง ชมรมที่ฟื้นผู้สูงวัยในประแสให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง (ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์)
prasaeolddays04
วัลลภ นิตยสกุล วัย 73 ปี เจ้าของร้านหลีบูติก คนเก่าแก่และร้านเก่าแก่ของชุมชนปากน้ำประแส ตัดเย็บกางเกงชาวเลให้กับไต้ก๋งเรือประมงมาตั้งแต่สมัยการประมงรุ่งเรือง (ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์)

ความลื่นไหลผันเปลี่ยนของประแส

“ประมงที่นี่เริ่มหายไปแล้ว คนเขาหนีไปทำอย่างอื่นกันหมด ไม่มีใครอยากจะมา”

ธานี ปราโมทย์ ลูกเรือประมงรุ่นเก๋า ชายสูงวัยร่างเล็กผิวเข้มคล้ำเต็มด้วยริ้วรอยเหี่ยวย่น บ่งบอกการกรำแดดสู้ฝนฝ่าชีวิต ผมหงอกขาวโพลน ตัดผมรองทรงสั้น พร่ำบ่นถึงอาชีพประมงในชุมชนประแสอย่างมีอารมณ์

ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนปากน้ำประแส ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจไม่ดีเหมือนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย หรืออาชีพประมง ที่เป็นอาชีพดั้งเดิมเก่าแก่ เลี้ยงปากท้องให้มีรายได้ดีมั่งคั่ง

เมื่ออาชีพประมงที่เป็นอาชีพนำพาผู้คน นำพารายได้เริ่มถดถอย ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป

“ชุมชนประแส เราก็อาศัยประมงอย่างเดียว ถ้าประมงไม่ดี อะไรก็ไม่ดี”

นรา ชาญวัตถาภรณ์ เล่าด้วยสีหน้าแววตาที่คาดหวังถึงความเป็นไปในปัจจุบันของชุมชนที่เธออาศัยมาตั้งแต่เด็ก เมื่อยุคสมัยผันเปลี่ยน ทุกอย่างในชุมชนที่เคยเฟื่องฟูมาก่อนก็ถดถอย เธอผันตัวเองมาเปิดโฮมสเตย์ในปี 2549 ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาแวะเวียนเยี่ยมชมชุมชนประแส

“ประแสในวันนี้ความเจริญก็เข้ามาเรื่อยๆ อย่างเริ่มแรกที่ทำโฮมสเตย์ กรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา เขาก็สนับสนุนเรา แต่ก็ยังขาดคนที่จะเข้ามาบูรณะให้ดียิ่งขึ้น”

มือที่เหี่ยวย่น ท่าทีผ่อนคลายขึ้น เมื่อพูดถึงชุมชนที่กำลังจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

ธุรกิจโฮมสเตย์ของนรา ถือเป็นอีกกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนปากน้ำประแส

“การที่เราทำโฮมสเตย์ ก็สร้างชื่อเสียงให้ชุมชน นักท่องเที่ยวมาก็มีที่ให้พัก เราก็อำนวยความสะดวกให้เขา เราได้ทำงานแล้วเราก็มีความสุข ได้เจอแขกมาเที่ยว”

เธอยังเล่าเสริมต่อว่าหากได้ลูกหลานคนรุ่นใหม่มาเติมช่วยประคองพลังแรงเก่าอย่างวัยชรา จะทำให้ประแสจะเจริญยิ่งกว่านี้

เสียงที่หนักแน่น ถ้อยวาจาฉะฉานแฝงไปด้วยแววตาสีหน้ามีความหวัง หญิงสูงวัยที่รักและผูกพันกับชุมชนปากน้ำประแสมานาน

“ตอนนี้ท่องเที่ยวกำลังดี แต่ประมงอาชีพเก่าแก่ก็ซบเซาลง ถ้าถามว่าจะหายไปไหม คงไม่หายไปหรอก แต่จะน้อยลงแค่นั้นแหละ และพอท่องเที่ยวเข้ามา คนในชุมชนก็มีอาชีพเพิ่มมาด้วย อย่างสามล้อท่องเที่ยวน่ะแหละ”

prasaeolddays05
นารา ชาญวัตถาภรณ์ และ ศรีวรรณ มุกดาสนิท เจ้าของโฮมสเตย์แสงมุกดา โฮมสเตย์แห่งแรกของชุมชนที่เปิดขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนประแสร์ (ภาพ : ฟ้ารุ่ง แสงภักดี)
prasaeolddays06
ศรีวรรณ มุกดาสนิท กับภาพเก่าประเพณีแข่งเรือของชุมชนประแส สมัยที่ยังสาวเธอเป็นคนรำบนหัวเรือในภาพ และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันปีนั้น (ภาพ : ฟ้ารุ่ง แสงภักดี)

ไม่ดับสิ้นกลิ่นประแส

เมื่อชุมชนถึงคราวเปลี่ยนแปลง ผู้คนก็ปรับตัวร่วมมือสามัคคีกัน พัฒนาปลุกฟื้นชุมชนให้กลับมาคึกคัก

“กิจกรรมดนตรีบำบัด ป้าเริ่มมาหลายสิบปีแล้ว ที่ทำขึ้นก็เพื่ออยากช่วยคนสูงอายุในชุมชนให้มีชีวิตชีวากลับมาอีกครั้ง”

กุหลาบ โชคเศรษฐกิจ หญิงสูงวัยรูปร่างอวบอิ่ม หน้าตายิ้มแย้มถ้อยวาจาสุภาพ วัย 74 ปี ผู้ก่อตั้งชมรมดนตรีบำบัด เล่าว่าอยากทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยชุมชนเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากชุมชนปากน้ำประแสมีผู้สูงวัยเยอะ

เธอยังเล่าต่อว่า นอกจากเป็นกิจกรรมที่ช่วยรักษาสภาพจิตใจของผู้คนสูงวัย กิจกรรมนี้ยังช่วยชุมชนได้ เพราะเป็นวิถีชุมชน ได้แสดงให้นักท่องเที่ยวดู เวลามีแขกมา เธอและผู้สูงวัยก็จะนำกิจกรรมนี้ไปต้อนรับผู้มาเยือน

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมดนตรีบำบัดแทบทั้งหมดจะเป็นผู้สูงวัย มีกิจกรรมสัปดาห์ละหนึ่งครั้งให้ได้มาพบปะกัน

หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมดนตรีบำบัดที่เป็นคนสำคัญในการเชื่อมประสานผู้สูงวัยในชุมชนคือ สมยศ บัวคลี่

“กิจกรรมนี้ดี ช่วยให้ทุกคนรักกัน มีความสามัคคี รวมกันเป็นหนึ่งเดียว พอมารวมกันก็รักกันกลมเกลียวกันไป เหมือนได้มาพบปะพูดคุยกันในวงคนแก่”

สมยศมักคอยโน้มน้าวผู้สูงวัยให้มาเข้าร่วมกิจกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จของชุมชน ที่นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้

นักขับสามล้ออาชีพยังให้ความเห็นถึงการหวนคืนสู่ถิ่นฐานของคนรุ่นหลัง กลับมาทำอาชีพ มาพัฒนาบ้านเกิด ฟื้นชุมชนปากน้ำประแส ไม่ว่าจะเป็นการช่วยพัฒนาสิ่งที่ขาดหายไป หรือถดถอย ดังเช่นอาชีพประมงที่เคยพาชุมชนปากน้ำประแสรุ่งเรือง

“ลูกประมง ก็กลับมาทำประมง อยู่กันไปอย่างงี้ ล้มลุกคลุกคลานกันไป มันไม่หมด ยังไงก็ไม่หมด”

เขาเน้นย้ำด้วยความมั่นใจ คาดหวัง ในกระแสกำลังพลังใหม่ของคนรุ่นหลัง

“ประมงไม่ตายหรอก มันจะอยู่กับประแสตลอดไป ถ้าประมงตาย ประแสก็ตาย”

ชายสูงวัยรูปร่างกำยำมาดเซอร์ นั่งยืดคลายสบายตัว บนรถสามล้อคู่ใจ เน้นเสียงหนักแน่นในคำตอบของตนเองอย่างจริงจัง

อ้างอิง

  • เทศบาลตำบลปากน้ำประแส. สืบค้น 24 มิถุนายน 2566, จาก https://paknumprasae.go.th/public/list/data/index/menu/1142
  • วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส. สืบค้น 24 มิถุนายน 2566, จาก https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลปากน้ำประแส