สุทธิดามาศ พันธ์พินิจ : เรื่อง
วรเมธช์ อรรถสงเคราะห์ : ภาพ

บ้านชานสมุทร - ใต้ชายคา ณ ประแส มาหาสมุทร
มาหาสมุทรโฮมสเตย์เป็นสถานที่พักผ่อนหนึ่งในชุมชนปากน้ำประแส
homestay prasae03
แผนที่ท่องเที่ยวในชุมชนปากน้ำประแสบนผนังด้านหนึ่งของโถง วาดโดยศิลปินหนุ่มที่ทำหน้าที่ชงเครื่องดื่มในโฮมสเตย์ด้วย

กางแผนที่สู่เขตตำบลปากน้ำประแส มีแม่น้ำประแสไหลผ่าน ก่อนลาดลงสู่อ่าวไทย

ใครจะรู้ว่าภูมิศาสตร์แห่งนี้ เป็นเสมือนวิถีที่โอบล้อมชุมชนที่ดำเนินอย่างสงบ ใต้ผืนดินอบอุ่นตามธรรมชาติ มีทุ่งโปร่งทอง ท้องนภาจรดสายน้ำ ทางสัญจรคลองเล็กเชื่อมติด ระหว่างรอยต่อน้ำทะเล เปลี่ยนแปลงสภาพตามการผันแปรของคลื่นลม

“เคยออกนานสุด 72 วัน ไปอินโด ก็ประมาณ 2 เดือนกว่า” สมศักดิ์ ชาญเชี่ยว ในวันนี้เป็นผู้นำล่องเรือแพอายุ 61 ปี อดีตไต๋เรือประมง มองกลุ่มคนเล่นน้ำบนแพไม้ที่สร้างด้วยเงินแสน ได้ยินเสียงเหยี่ยวบินโหนลมประกอบฉาก

“ประมงเนี่ย ใช่ว่าจบเอก จบโท จบตรี มาแล้วจะเป็นดอกเตอร์ขับเรือ มันทำไม่ได้ คนละภาษากัน คนละอย่าง ใช้ประสบการณ์จริงหมด นี่ออกเรือแรกเมื่อ 10 กว่าขวบเอง”

ใบหน้าคล้ำแดดที่มีริ้วรอยสะท้อนถึงจิตวิญญาณของชายที่สั่งสมประสบการณ์และทุนทรัพย์ จนขยายกิจการเดินเรือสมุทร 50 กว่าปีถักทอสายประมงจนแน่น เจ้าของเรืออวนจับทูน่าขนาดใหญ่ ชาวบ้านต่างเรียกกันว่า ไต๋เทิ่ม

จังหวะชีวิตผันแปร ถูกกระแสลมพลิกผัน ในช่วงที่ขายเรือทุกลำออกไปจนหมด ในปี 2556 ไต๋เทิ่มยอมรับว่าเป็นจุดอิ่มตัวกับอาชีพ เริ่มเข้าสู่ช่วงเกษียณ

“คิดๆ ดูว่า ที่ผ่านมา…ไม่ได้เหยียบดินเลย”

สายลมบรรเลงผิวน้ำเป็นรอยคลื่นน้ำ เสียงทุ้มลุ่มลึกของไต๋เรือที่ได้อุทิศชีวิตให้กับท้องทะเล กระตุ้นความรู้สึกให้ปรารถนารับฟังเรื่องราวทั้งหมด และวันเวลาเผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลงที่สรรค์สร้างด้วยสองมือ

homestay prasae04
สมศักดิ์ ชาญเชี่ยว หรือ “ไต๋เทิ่ม” ผู้เคยเป็นไต๋เรือที่คุมเรือประมงมาก่อน แต่หันมาทำโฮมสเตย์กับครอบครัว
homestay prasae05
การเป็นไต๋เรือมาก่อน ทำให้ “ไต๋เทิ่ม” มีทักษะการขับเรือ โฮมสเตย์นี้จึงมีกิจกรรมเพิ่มมาอีกอย่างคือ การล่องแพเปียก
homestay prasae06
กิจกรรมล่องแพนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เล่นน้ำแล้ว ยังมีการให้อาหารเหยี่ยว และเที่ยวชมเมืองประแสผ่านทางเรือ

โฮมสเตย์

บ้านชานสมุทร แต่เดิมคือที่ทำงาน ท่าเทียบเรือและโรงเก็บอวนของตระกูล “ชาญเชี่ยว” จุดเริ่มต้นของการสร้างโฮมสเตย์ริมน้ำคือการไม่เคยลืมว่าทะเลให้อะไร ทั้งตัวตนที่แท้จริง ผ่านแต่ละมุมมอง ส่งแรงกระเพื่อมในใจ

“เริ่มจากที่เขาอยากพัก ก็ขายเรือออก คิดจะขายหลังนี้ไปอยู่บ้านเกิด หาอาชีพอื่น แต่ตัวเรา ซิน ซัน (ลูกสาวคนเล็ก – ลูกชายคนโต) ก็บอกว่าที่ตรงนี้หายาก จะขายทำไม ในเมื่อประแสกำลังทำท่องเที่ยว ก็สร้างที่พักเปิดรับคนเมือง ลองดูก่อนไหม สุดท้ายเขาก็โอเค ขัดไม่ได้นะ โอเคเลย”

น้ำเสียงเจือหัวเราะแฝงความรักสะท้อนผ่านระเบียงริมน้ำ ขณะที่ “จู” ศิริรัตน์ ชาญเชี่ยว หญิงในดวงใจของไต๋เทิ่ม นึกถึงความทรงจำนับไม่ถ้วนที่พวกเขาได้ร่วมกันยืนหยัดต่อการตัดสินใจ “นี่คือจุดเริ่มที่เปลี่ยนสายประมงหันไปทำโฮมสเตย์ครั้งแรก”

ในวัย 64 ปี เธอยืนยันถึงการอนุรักษ์สิ่งเดิมที่มี อย่างคานเหล็กสีดำทิศใต้ของบ้านที่เคยใช้สาวอวน การขันชะเนาะผูกรั้งสิ่งต่างๆ ด้วยเชือกขนาดใหญ่ ฯลฯ เป็น “วิถีประมงไทย” เพื่อจัดแสดงกายภาพทางวัตถุที่เคยเกิดขึ้น ทุกการตัดสินใจทำด้วยความระมัดระวัง ใช้สมดุลระหว่างทรัพยากรที่มี เว้นไว้ต่อเติมให้งดงามยิ่งขึ้น พร้อมกับนำรสมือมาทักทาย ผ่านอาหารทะเลสดใหม่ด้วยฝีมือคนในครอบครัว

“เหมือนว่าได้อยู่บ้าน ใช้ชีวิตกับมันทุกวัน พ่อไต๋ก็ออกแบบให้โล่ง โปร่ง สบาย ลมเข้าได้ ปัญหาแรกคือทำยังไงให้มีคนรู้จักที่นี่ ลูกซินก็ทำเพจท่องเที่ยว ลงโพสต์กิจกรรมชุมชน พอมีคนเริ่มมาพักบ้างแล้วบอกต่อคนก็รู้จักกันไป”

ยิ่งสถานที่ตั้งอยู่กับเงื่อนไขระดับน้ำขึ้นลง ต้องใช้เวลาศึกษา พัฒนา ปรับปรุง สร้างให้เหมาะกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ให้สอดคล้องและกลมกลืนกับแม่น้ำ ทุกปัจจัยเป็นลมใต้ปีกกันและกัน

เดินจากชีวิตประจำวันมาสู่วันพักผ่อน ณ ที่แห่งนี้ ผู้คนชื่นชอบของประมงที่เคยใช้งานผสานงานศิลป์ เรียงขนาดห้องพักตามชื่อปลาน่านน้ำไทย ทั้งปลาทู ปลากด ปลาสาก สำลี อังเก่ย โฉมงาม อินทรีย์ แป๊ะเซีย พื้นกระดานไม้ส่งเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดเป็นพยานถึงรอยเท้าจำนวนนับไม่ถ้วน ก่อนเดินผ่านประตูทางเข้าไป ฝั่งตรงข้ามเป็นป่าโกงกาง เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า จะพบฝูงนกบินกลับที่เกาะคอนพัก ส่งเสียงเซ็งแซ่แผ่ไพศาล การออกแบบไม้เล่นแสงเงา ให้ธรรมชาติพริ้วระลอกหยอกเย้า ไหลไปตามสายธารความพอดี

สิ่งพิเศษในชานสมุทรโฮมสเตย์ เป็นไปได้โดยช่างพี่น้อง 2 คนคือ “ลุงเรศ” และ “ช่างโว่” ทีมงานต่อเรือที่สั่งสมภูมิปัญญาไว้ ทุกตารางนิ้วยังได้ “ไต๋เทิ่ม” มาเป็นผู้กำกับก่อสร้าง อนุรักษ์ความงามที่แทรกซึมหัวใจผู้คนที่ผ่านทาง

homestay prasae07
มาหาสมุทร บูติคโฮมสเตย์ ออกแบบให้เหมือนกับเรือ โดยไต๋เทิ่มใช้ความรู้การเดินเรือ เช่น ทิศทางลม ทำให้มีลมพัดเข้าตลอดเหมือนอยู่บนเรือจริงๆ
homestay prasae08
สร้างจากไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง โดยฝีมือช่างต่อเรือ บนหลักการที่ว่า “ต้องแข็งที่สุดเพราะอยู่ในที่อ่อนนุ่มที่สุด”

ปรับตัวให้ต้อนรับ

“เพราะหลักการสร้างเรือ ทุกอย่างต้องแข็งแรงที่สุดต่อการใช้งาน เพราะคุณเลือกใช้ชีวิตอยู่บนสิ่งที่อ่อนนุ่มที่สุด มันต้องมีความคงทนในความรู้สึกนั้น” วิรุฬ ทัศญาณ หรือหลุน ชายคนรักของลูกสาวชานสมุทรโฮมสเตย์ บอกเล่าถึงความเห็นที่พ่อตาเข้ามาชุบชีวิตโรงงานร้างเป็นโฮมสเตย์ใหม่หลังที่ 2

“เจ้าของเก่าเป็นคนกรุง ทำโรงงานแปรรูปแมงกะพรุน แต่ขาดสภาพคล่องก็เลยขาย เราไปซื้อเป็นเจ้าสุดท้าย สิ่งที่เหลือคือไม้หาย กลายเป็นของสาธารณะโดยนัย” เขาพูดด้วยนัยน์ตาสีเข้มฉายแววเด็ดเดี่ยวจริงจัง

“พอมีคนรู้ว่าบ้านหลังนี้ ใช้วงกบเป็นไม้ตะเคียน ล่องเรือผ่านตามอง ไม่มีใครอยู่ก็เอาไปบ้าง เลยตัดสินใจรื้อแล้วทำใหม่บนโครงสร้างเดิม เกิดเป็นมาหาสมุทรโฮมสเตย์”

เสียงทุ้มบอกเล่าขณะผิวน้ำสะท้อนแสงประกายระยิบ พาให้ทุ่นประมงที่แขวนประดับชั้นสองของโฮมสเตย์ดูอ่อนโยน

“คนที่นี่อัธยาศัยดี ยิ่งพอไปศึกษาหาข้อมูลก็รู้ว่าเป็นเมืองเก่าแก่ ยุครุ่งเรืองสุดก็เติบโตขึ้นมาพร้อมจันทบูร ริมน้ำที่นั้น เป็นหัวเมือง แต่ประแสโดนกำหนดเป็นเมืองท่า มีคนซื้อขายเยอะจนเป็นเมืองค้า”

ชายร่างสูงยืนพิงริมระเบียง ปะทะรับลมชั้น 2 ในมาหาสมุทรโฮมสเตย์ ทั้งหลังมี 11 ห้อง

มีหลักฐานแสดงถึงการตั้งถิ่นฐาน ผ่านการมาเยือนบุคคลสำคัญ นอกจากนี้ยังมีข้อความปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเส้นทางเดินทัพพระยาตากมายังจันทบุรีเพื่อกู้เอกราช

วันนี้ที่ผู้คนเจอปัญหารุมเร้า กลับมีเรือนไม้ในความหลังเปิดรับให้คนเข้าพักด้วยความสบายใจ คลายความเหนื่อยล้า เป็นสถานที่ที่คัดสรรไม้ทุกแผ่น มีชิงช้าหน้าบ้านเป็นตัวแทนในงานไม้รวมกับเชือก พิสูจน์ความพิถีพิถันและวิสัยทัศน์ของผู้สร้าง

ทุกซอกมุมแต่ละพื้นที่ของตำบลปากน้ำประแส ยังคงมีแลนด์มาร์กน่าสนใจ ตามถนนหนทางมีลายเส้นภาพศิลป์ท้องถิ่นบนผนังกำแพง โบกรถซาเล้งไปเรือรบหลวงประแส และชายหาดแหลมสน ลัดเลาะผ่านตลาดไปนั่งมองทิวทัศน์น่าหลงใหลบนสะพานประแสสิน รอรับแสงอรุณยามเช้าสาดส่องลงมาที่ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ฯลฯ

การเปิดบ้านรับแขกแปลกหน้าไม่ได้ทำให้โฮมสเตย์แห่งนี้กระจุกรายได้ไว้เพียงแค่ที่เดียว ทุกความเป็นเมืองต้องอยู่ร่วมกัน

จนถึงวันวานในความตั้งใจของครอบครัวชาญเชี่ยว คือการเติบโตไปพร้อมกันกับชุมชน ชวนผู้คนเข้ามาส่งมอบรอยยิ้มที่คุ้มค่ากับชีวิตในวันนี้

homestay prasae09
ตกแต่งด้วยวัสดุที่ใช้บนเรือประมง เช่น หลอดไฟ ทุ่น เชือกสมอ
homestay prasae10
ชุมชนปากน้ำประแสกำลังเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น และกำลังพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไป

ถ้ากรุงเทพฯ รถติด ที่นี้ก็มีเรือติด”

คือภาพในอดีตที่ ซิน สมศิริ ชาญเชี่ยว ลูกสาวชาวเรือแห่งลุ่มน้ำประแส บอกเล่า เธอผันตัวจากงานบริษัทท่องเที่ยวมาช่วยบริหารโฮมสเตย์หลังที่ 2 ของครอบครัว

“พวกเรือข้างหลังที่เห็นข้างหลัง หาคนงานไม่ได้ จอดทิ้งไว้ 4 ปี ก่อนที่เราจะสร้างมาหาสมุทรโฮมสเตย์ด้วยซ้ำ ก็เลยต้องทำให้จุดนี้น่าสนใจ ขายประสบการณ์ในชุมชน มีที่นอน อาหารถูกปาก โจทย์คือทำอย่างไรให้ ‘เขาสละเวลามาให้เรา’ และ ‘ทำอย่างไรให้เขารู้สึกคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปกับเรา’”

คำบอกเล่าสอดคล้องกับเสียงหัวเราะดังก้องกังวานและบทสนทนาที่มีชีวิตชีวา

ไม่น่าเชื่อว่า จากท่าเทียบเรือและโรงงานแปรรูปแมงกะพรุน เศษอิฐซากปูน ถนนดินโคลน กับกองไม้จำนวนมหาศาล ความรกร้างที่เคยเงียบเหงา ตะปูแต่ละตัวก็ตอกเข้าที่ ชิ้นส่วนอดีตถูกรักษาไว้ ขีดเขียนบทใหม่ผ่านสายใยครอบครัว

สายตาที่แน่วแน่ของไต๋เทิ่ม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการให้เกียรติมรดกของสถานที่ เชื่อมเป็นสะพานสู่กิจกรรมท่องเที่ยว ดื่มด่ำกับมนต์เสน่ห์ริมชายฝั่ง

“ถ้าที่นี่ไม่มีโฮมสเตย์สักหลัง อย่าหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวสักคน” ชม วิเศษศิลปานนท์ หนึ่งในอดีตพ่อค้าของชํายุคประแสรุ่งเรือง กล่าวบนเก้าอี้ไม้สักที่นั่งอยู่ข้างในบ้าน ชายสีผมดอกเลาใช้ชีวิตผ่านมาแล้วถึง 92 ปี

เพราะเสน่ห์ของโฮมสเตย์มีมากกว่าความมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม

ถ้าพอมีเวลา มาลองปล่อยใจล่องแพ ยิ้มให้เหยี่ยวแดงก่อนตะวันตกดิน ฟังเสียงนกร้องอย่างไพเราะ เพิ่มท่วงทำนองที่กลมกลืนไปกับซิมโฟนีในธรรมชาติ ให้อากาศอบอวลด้วยความสดชื่นกระตุ้นประสาทสัมผัส ฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ