๏ สรภังค์ดาบสตั้ง ตนตรง
ถ่างบาททั้งสองทรง แย่แต้
กำหมัดดัดกรผจง กดคู่ ขานา
ตะโพกสลักเพ็ชร์แม้ เมื่อยล้าชาหายฯ

พระอมรโมลี

ตามรอยฤๅษีดัดตน 36 - สรภังค์

(ถอดความ) ฤๅษีสรภังค์ยืนตัวตรง ย่อเข่า กำหมัดแล้วกดลงตรง “ตะโพกสลักเพชร” (คือจุดต่อที่สะโพก ระหว่างกระดูกเชิงกรานกับหัวกระดูกต้นขา มองเห็นเป็นรอยบุ๋มที่เอว) ท่านี้ทำให้หายเมื่อยล้า หายชาได้

ฤๅษีอีกตนหนึ่งจากบทละคร “รามเกียรติ์” ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ได้แก่ฤๅษีสรภังค์/สระภังค์

เมื่อครั้งพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา ออกบวชและไปเดินดงเป็นเวลา ๑๔ ปี ตามที่รับปากไว้กับพระบิดาคือท้าวทศรถ ได้พบฤๅษีภารทวาชชักชวนให้พำนักอยู่ด้วยกัน แต่พระรามปฏิเสธ ด้วยเห็นว่ายังอยู่ใกล้พระนครเกินไป ฤๅษีภารทวาชจึงแนะให้ลองเดินทางต่อไปหาฤๅษีสระภังค์ที่อยู่ถัดไปอีกหกโยชน์กึ่ง

เมื่อไปถึง ฤๅษีสระภังค์แจ้งว่าได้ทราบเรื่องราวที่พระรามมีเหตุให้ต้องนิราศจากพระนครมาแล้ว ตนจึงเตรียมศาลาปฏิบัติธรรมไว้รับรอง

๏ เมื่อนั้น
ฝ่ายพระสระภังค์ดาบส
ครั้นเห็นหน่อท้าวทศรถ
เข้ามาประณตอัญชุลี
จึ่งมีวาจาอันสุนทร
ดูก่อนพระรามเรืองศรี
วันเจ้าทรงพรตเป็นโยคี
ตานี้รู้แล้วจึ่งรีบมา
คิดว่าจะไม่มีที่อาศัย
จึ่งทำศาลไว้คอยท่า
จงอยู่สร้างพรตจรรยา
จำเริญภาวนาให้ถาวร ฯ

ทว่า พระรามทรงเห็นว่าแม้ศาลาหลังนี้เองก็ยังอยู่ไกลจากกรุงอยุธยาไม่มากพออยู่ดี ฤๅษีสระภังค์จึงเสนอว่า ถัดไปอีกห้าโยชน์ ตรงต้นนนทรีหลังเขาสัตกูฏ มีศาลาอีกหลังหนึ่งที่เทวดามาเนรมิตไว้ อีกทั้งผลหมากรากไม้ในถิ่นนั้นก็บริบูรณ์ดี ขอให้มหาบพิตรไปพำนักที่นั่นเถิด พระรามและคณะผู้ติดตามจึงออกเดินทางไปสู่ทิศนั้น


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ