100 ปี ศิลป์สู่สยาม - “ปริ๊นซ์นริศ” กับนาย Feroci  : ศิลปะข้ามวัฒนธรรม

ดูเหมือนว่ายังไม่มีใครพบหลักฐาน ว่านายคอร์ราโด เฟโรจี หรือที่เอกสารไทยมักออกชื่อว่า “นายซี เฟโรจี” (C. Feroci) หรือ “เฟโรจี” เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่เท่าไร หรือด้วยวิธีการใดกันแน่ แต่เนื่องจากในประวัติการรับราชการเริ่มนับอายุราชการของเขาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖ จึงสันนิษฐานกันว่าเฟโรจีคงเดินทางเข้ามาถึงก่อนหน้านั้นไม่นาน

จำเป็นต้องกล่าวตั้งแต่ตรงนี้ว่าในขณะนั้น ปฏิทินของสยามยังเหลื่อมกับปฏิทินสากล คือสยามเปลี่ยนปีพุทธศักราชในวันที่ ๑ เมษายน ขณะที่ปฏิทินฝรั่งขึ้นปีใหม่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ดังนั้นช่วงเวลาที่กล่าวถึงคือเดือนมกราคม ๒๔๖๖ ในสมัยนั้น จึงตรงกับเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ซึ่งถ้านับอย่างปฏิทินปัจจุบัน วันที่เฟโรจีเริ่มเข้ารับราชการกับรัฐบาลสยามคือ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๗

สยามในยามนั้นยังคงเป็นราชอาณาจักรสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประมุขสูงสุดและหัวหน้าคณะรัฐบาลคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นสมัยเฟื่องฟูของกิจการรถไฟ โรงแรมรถไฟหัวหินเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนมกราคม ไล่เลี่ยกับที่เฟโรจีเข้ามาถึงพระนคร ชาวกรุงกำลังตื่นเต้นกับผลผลิตแตงโมและไข่สดจากฟาร์มบางเบิดของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่งตรงโดยรถไฟสายใต้มาขายถึงในพระนครเป็นประจำ

ในประวัติการรับราชการ ระบุว่าเฟโรจีได้รับเงินเดือนเดือนละ ๘๐๐ บาท ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือนข้าราชการสยามระดับอธิบดี บวกด้วยค่าเช่าบ้านอีกเดือนละ ๘๐ บาท โดยทำสัญญาระยะเวลา ๓ ปี เริ่มต้นสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ ตามสัญญาระบุว่าเมื่อทำงานครบ ๓ ปีแล้ว จะต่อสัญญาหรือไม่ก็ได้ และเมื่อทำงานครบ ๓ ปี มีสิทธิลาพักผ่อนได้ ๙ เดือน

ตำแหน่งของเขาคือช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล ๒๔๒๐-๒๔๖๙) เป็นเสนาบดี และมีพระยาอาทรธุรศิลป์ (หม่อมหลวงช่วง กุญชร ๒๔๑๗-๒๔๗๓) เป็นอธิบดี

ปลายปีเดียวกับที่ ซี เฟโรจี มาถึงกรุงเทพฯ มารดาของเขาก็ถึงแก่กรรมลง ขณะที่ชีวิตการงานในสยามดูเหมือนไม่ค่อยราบรื่นนัก ร่องรอยความขัดแย้งกับข้าราชการสยามปรากฏในเรื่องที่เขาเล่าให้ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ลูกศิษย์คนหนึ่งฟัง

“เมื่อเข้ามาทำงานที่กรมศิลปากร เขาก็จัดที่ให้ท่านอยู่…บนตัวตึกกรมศิลปากรชั้นล่างของตัวตึกหน้า ทีนี้อาจารย์ศิลป์ท่านไม่อยากอยู่ เนื่องจากห้องนี้ไม่เหมาะเป็นห้องปฏิบัติงานปั้นหรือเป็นสตูดิโอ เพราะเกี่ยวกับด้านแสงสว่างไม่ถูกต้อง ท่านก็ลงไปทำงานที่ตึกข้างล่าง…ซึ่งเป็นห้องที่มีแสงสว่างถูกต้อง…อาจารย์ศิลป์เห็นว่านี่เป็นห้องที่ถูกต้อง ท่านก็ขอมาทำงานที่นี่ ก็ถูกหัวหน้างานสมัยนั้น นายใหญ่หัวหน้าของศิลปากรสมัยนั้น ว่าเป็นฝรั่งหัวดื้อ จองหอง เมื่อความนี้เข้าหูอาจารย์ศิลป์เข้า อาจารย์ศิลป์ก็เกิดความน้อยใจ… ไม่อยู่แล้วเมืองไทย ฉันจะกลับ… ท่านก็นัดกับเมียแหม่มอิตาเลียนด้วยกัน ไม่อยู่ล่ะ กลับดีกว่า เพราะเสียใจที่ไม่ได้อยู่ห้องที่สามารถทำงานได้”

พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศดิศกุล (๒๔๖๖-๒๕๔๖) ผู้เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงเล่าเรื่องข้อขัดแย้งระหว่างนายเฟโรจีกับผู้บังคับบัญชาอีกกรณีหนึ่งว่า

“เมื่อศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เข้ามาสมัครทำงานในประเทศไทยตั้งแต่แรกนั้น ได้ไปสมัครเป็นช่างปั้นในแผนกศิลป ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้ความควบคุมของกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ได้ให้ศาสตราจารย์ศิลปทดลองปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และลงท้ายก็ได้บอกว่าฝีมือไม่ดี ปั้นไม่เหมือน จะไม่ยอมรับเข้าทำงาน ชรอยศาสตราจารย์ศิลปจะทราบว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเป็นช่างใหญ่ในเมืองไทยและเป็นที่นับถืออย่างสูงทางด้านศิลปในขณะนั้น จึงขอเข้าเฝ้าและกราบทูลว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เคยมาประทับเป็นแบบให้เลย จะปั้นให้เหมือนได้อย่างไร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จึงทรงตกลงจะประทับเป็นแบบให้ศาสตราจารย์ศิลปปั้นภาพเหมือนของพระองค์เองถวาย และศาสตราจารย์ศิลปก็ปั้นได้เหมือนจริงๆ…สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จึงทรงช่วยเหลือให้ศาสตราจารย์ศิลปเข้าทำงานเป็นช่างปั้นในกระทรวงวังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ผู้ประสูติในปีที่เฟโรจีมาถึงเมืองไทย ทรงทราบเรื่องนี้ผ่านคำบอกเล่าของหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ (๒๔๕๑-๒๕๔๘) พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อีกทอดหนึ่ง

เฟโรจีเคยเล่าเรื่องเดียวกันนี้ด้วยสำเนียงภาษาไทยของเขาให้ สุกิจ ลายเดช ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งฟังว่า

“ปริ๊นซ์นริศนาย ท่านเข้าใจฉันดี ท่านเป็นแบบให้ฉันพั่ม (ปั้น)”

แล้วเฟโรจีกับ “ปริ๊นซ์นริศ” พบกันครั้งแรกที่ไหนเมื่อใด ?

แม้เรื่องนี้จะยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดอีกเช่นกัน แต่แน่นอนว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ผู้เป็น “อา” ของพระเจ้าแผ่นดินสยามนั่นเอง คือผู้ที่เปิดโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตให้แก่นายเฟโรจี

ไม่เช่นนั้นแล้ว บางทีโปรเฟสเซอร์ชาวอิตาลีคนนี้อาจต้องกลับไปฟลอเรนซ์ตั้งแต่ปีแรกที่มาถึงแล้วก็เป็นได้

หลังจากสมเด็จฯ ได้เห็นฝีมือของเฟโรจี จึงชักนำให้เขาได้เข้าเฝ้าฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเป็นแบบ เฟโรจีจึงมีโอกาสได้ปั้นพระบรมรูปจากพระองค์จริงของในหลวงเป็นครั้งแรก

โดยวัย กรมพระนริศฯ ทรงมีพระชันษาในรุ่นพ่อหรือรุ่นลุงของเฟโรจี คือขณะที่เฟโรจีอายุสามสิบต้นๆ กรมพระนริศฯ มีพระชันษากว่าหกสิบปีแล้ว พระองค์ทรงเป็นที่นับถือในเชิงวิชาช่างมาตั้งแต่รัชกาลก่อน ถือได้ว่าทรงเป็นนายช่างอันดับต้นๆ ของสยาม แม้ในรัชกาลที่ ๖ ก็ยังทรงได้รับหน้าที่ออกแบบพระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์หลายครั้ง รวมถึงยังเป็นผู้เขียนภาพประกอบหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เช่น ธรรมาธรรมะสงคราม

มิตรภาพระหว่างกรมพระนริศฯ กับเฟโรจี ยืนยาวต่อมาอีกกว่าสองทศวรรษ ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองสารพัด ตั้งแต่ฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ยุครัฐบาลคณะราษฎรและการฟื้นฟูกรมศิลปากร การก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมอันจะเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยศิลปากร สงครามมหาเอเชียบูรพา ฯลฯ

ตราบจนเสด็จในกรมฯ พระองค์นั้น สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๙๐