
๏ ผิวลมเข่าค่อขั้ง เหน็บหนัก กายสั่นฟันชิดชัก ปากเบี้ยว พระกาลสิทธิแถลงลักษณ์ เลศท่า แก้นอ เหนี่ยวไหล่หน่วงเท้าเอี้ยว อกโอ้อนิจจังฯ
หลวงลิขิตปรีชา
(ถอดความ) หากเกิดลมในเข่าในข้อ (“ข้อคั่ง” แต่ในโคลงสะกด “ค่อขั้ง” คือเป็น “เอกโทษโทโทษ” ตามฉันทลักษณ์โคลงสี่สุภาพ) ทำให้เจ็บปวดจนตัวสั่น ชักปากเบี้ยว ฤๅษีกาลสิทธิได้แสดงท่าที่ใช้แก้ไขให้แล้ว คือนั่งเหนี่ยวไหล่ พร้อมจับปลายเท้าเอี้ยวตัว
ในบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่าหลังจากมีรายงานข่าวเรื่องพิเภกผู้ถูกพี่ชายเนรเทศเกิด “แปรพักตร์” ไปเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระราม ทศกัณฐ์เกรงว่าน้องชายจะเป็นไส้ศึกแพร่งพรายความลับฝ่ายกรุงลงกา จำต้องหาอุบายให้เกิดแตกคอไม่ไว้วางใจกัน จึงแปลงตนเป็นฤๅษี มีนามว่า กาลสิทธิ/กาลสิทธ แล้วเดินดุ่มเข้าไปยังค่ายฝ่ายพลับพลาของพระราม
๏ เมื่อนั้น ทศพักตร์ผู้มีอัชฌาสัย ได้ฟังจึ่งตอบคำไป รูปนี้อยู่ในหิมวันต์ ชื่อกาลสิทธโคดม ไปจงกรมกลับมาแต่สวรรค์ แจ้งว่าพระองค์ทรงธรรม์ ยกพวกพลขันธ์วานร จะข้ามไปสงครามในลงกา เมตตามาห้ามพระทรงศร อันองค์ท้าวยี่สิบกร ฤทธิรอนเลิศลํ้าแดนไตร มีทั้งทหารชำนาญยุทธ์ นับด้วยสมุทรก็ว่าได้ อันพระองค์จะยกพลไป ไหนจะครั่นมืออสุรี ใช่ว่าสิ้นนางในโลกา ผ่านฟ้าจะไร้มเหสี ถึงได้มาก็เป็นราคี น่าที่ไม่พ้นอัประมาณ ดั่งดวงแก้วตกกลางกองไฟ อย่าสำคัญจะไม่ร้าวฉาน จะตามไปไยให้ป่วยการ จงเลิกทวยหาญไปพารา ฯ
ฤๅษีแปลงแสร้งทำตัวเป็นผู้หวังดี ทักท้วงพระรามว่าไม่ควรเลยที่จะไปต่อสู้กับทศกัณฐ์ผู้มีฤทธิ์เดช ขอให้เลิกทัพกลับไปเสียเถิด แถมยัง “วางยา” ซ้ำอีกว่า พิเภกเองก็เป็นน้องชายของทศกัณฐ์มิใช่หรือ พระองค์ไปไว้วางใจได้อย่างไรกัน
ครั้นแล้วจึงทำทีทูลลาพระราม พอลับสายตาคน ฤๅษีกาลสิทธก็คืนร่างสิบเศียรยี่สิบกร เหาะกลับสู่พระนครลงกา
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ