๏ นักสิทธิโสภาคย์พร้อม     พรหมจรรย์
ชื่อมหาสุธรรม์     เลิศแท้
เท้าเหยียบยืดหัดถ์ยัน     ขยำเข่า สองนา
ขบขัดข้อเข่าแก้     เมื่อยล้าลมถอยฯ

พระอมรโมลี

ตามรอยฤๅษีดัดตน 38 - มหาสุธรรม์

(ถอดความ) ฤๅษีมหาสุธรรม์ ผู้บำเพ็ญพรหมจรรย์ (คือกระทำเยี่ยงพรหมด้วยการละเว้นในกาม) แสดงท่านี้ คือนั่งเหยียดขา มือขยำเข่า เพื่อบรรเทาอาการเมื่อยขบตามข้อเข่า หรือที่ในคำอธิบายภาพเรียกว่า “เข่าขัด”

“มหาสุธรรม์” ในที่นี้ น่าจะหมายถึงฤๅษีทศกัณฐ์แปลง ในพระราชนิพนธ์บทละคร “รามเกียรติ์” ของรัชกาลที่ ๑ คือเมื่อมารีศลวงให้พระลักษมณ์ออกจากอาศรมไปช่วยพระรามแล้ว ทศกัณฐ์จึงแปลงตัวเป็นฤๅษีเดินเข้าไปยังอาศรม เมื่อนางสีดาแลเห็นจึงเอ่ยถามขึ้นว่าท่านเป็นใครมาจากที่ใด ฤๅษีแปลงกล่าวว่าตนเองมีนามว่า “สุธรรม์”

๏ เมื่อนั้น
ทศเศียรผู้ปรีชาหาญ
ฟังเสียงฟังรสพจมาน
ปานอมฤตฟ้ายาใจ
พร้อมทั้งจริตมารยาท
ยิ่งแสนพิศวาสหลงใหล
จึ่งมีมธุรสตอบไป
รูปนี้ได้ชื่อว่าสุธรรม์
อยู่แดนลงกาธานี
ไม่มีโลโภโมหันธ์
ตั้งแต่รักษาพรหมจรรย์
นานได้แปดพันปีมา
ไม่สบายจึ่งเที่ยวจงกรม
ให้เป็นบรมสุขา
พอแลเห็นบรรณศาลา
ตานี้ยินดีเป็นพ้นนัก
จึ่งอุตส่าห์แวะเข้ามาดู
หวังว่าจะใคร่รู้จัก
พบเจ้าเยาวยอดวิไลลักษณ์
ผ่องพักตร์เสาวภาคย์จำเริญใจ
มาอยู่ผู้เดียวที่ในป่า
ถิ่นฐานพาราเป็นไฉน
อันนามกรชื่อไร
เหตุใดมาบวชเป็นโยคี ฯ

สุดท้าย ฤๅษีปลอมยังโน้มน้าวอีกว่า นางสีดานั้นไม่คู่ควรกับพระรามเลย น่าจะไปเป็นชายาของทศกัณฐ์เสียดีกว่า ว่าแล้วจึงคืนรูปกายเป็นพญายักษ์ ตรงเข้าอุ้มนางสีดาขึ้นรถทรง มุ่งตรงกลับคืนกรุงลงกา


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ