๏ อัคตะตบะเพี้ยง       เพลิงผลาญ ภพฤๅ
ถวายเกราะองค์อวตาร       ท่านนั้น
นั่งดัดหัดถ์สองผสาน     พนมนิ่ง อยู่นา
เพื่อขัดปัสสาวะอั้น      ออกได้โดยใจฯ

พระอมรโมลี

akkata00

(ถอดความ) ฤๅษีอัคตะ ผู้มีตบะแรงกล้าประดุจไฟที่อาจเผาผลาญโลกได้ ท่านเป็นผู้ถวายเกราะให้แก่องค์อวตาร (คือพระราม ผู้เป็นอวตารของพระนารายณ์) นั่งพนมมือนิ่ง ทำให้ปัสสาวะหายขัด ถ่ายเบาได้ดังประสงค์

คำโคลงอธิบายสรรพคุณของท่าดัดตนท่านี้ว่าเป็นไป “เพื่อขัดปัสสาวะอั้น ออกได้โดยใจ” หมายถึงให้สามารถถ่ายปัสสาวะได้สะดวก ส่วนคำอธิบายภาพที่มีมาแต่เดิมระบุว่า “แก้ลมในลำลึงค์” จึงหมายความว่าตามทัศนะของแพทย์ไทยโบราณ สาเหตุหนึ่งของอาการ “ขัดเบา” คือปัสสาวะไม่ออก เกิดจากมี “ลม” คั่งอยู่ข้างในนั้น จึงใช้ท่านี้เพื่อ “แก้ลม”

ในบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ ภายหลังจากที่พระอิศวรประหารยักษ์ตรีบูรัมแล้ว จึงให้นำมหาธนูโมลีซึ่งเป็นอาวุธสังหารไปฝากไว้ยังกรุงมิถิลา ส่วนเกราะแก้วอันเป็นเครื่องทรงคราวมหายุทธ์นั้น ให้ฤๅษีอัคตะเก็บรักษาไว้ คอยท่านำขึ้นถวายแด่องค์อวตารของพระนารายณ์ในวันข้างหน้า ดังคำกลอนว่า

เกราะแก้วนั้นมอบแก่ดาบส
พระอัคตะทรงพรตฌานกล้า
คอยพระหริรักษ์จักรา
จะอวตารลงมาปราบยักษ์

ฤๅษีตนนี้มาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง (โดยสะกดนามเป็น “อรรคต”) เมื่อพระรามออกเดินดง พร้อมด้วยพระลักษมณ์และนางสีดา ครั้นผ่านมาถึงอาศรมฤๅษีอรรคต เมื่อพระฤๅษีสอบถามได้ความว่าแท้จริงแล้วพระองค์คือนารายณ์อวตารมาผลาญราพณ์ ท่านจึงนำเกราะแก้วมาถวายให้ ตามที่พระอิศวรสั่งความไว้แต่เมื่อครั้งกระโน้น

ถ้าพระภุชพงศ์วงศ์ประยูร
ไวกูณฐ์มาทำสงครามใหญ่
ให้เอาเกราะนี้ทรงไป
ชิงชัยกันเทพศาสตรา
ว่าแล้วยื่นเกราะสุรกานต์
ถวายพระอวตารนาถา
จงมีชัยแก่หมู่อสุรา
ใต้ฟ้าอย่าทานฤทธิรอน


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ