เรื่อง: ฉัตรชัย สิทธิจรรยากุล
ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์
กลิ่นพริกหมาล่าหอมฟุ้งกระทบจมูก โชยมาจากร้านอาหารจีนสักแห่งบนถนนที่รถเล็กใหญ่ขวักไขว่ไม่ขาดสาย แม้ที่นี่คือชุมชนคนไทยย่านห้วยขวาง แต่ป้ายบนตึกรามบ้านช่องเต็มไปด้วยภาษาจีนตัวโต เสียงเซ็งแซ่จากผู้คนเดินไปมา ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง
ให้อารมณ์ราวกับกำลังยืนอยู่ข้างถนนในมณฑลหนึ่งของประเทศจีน
ชุมชนซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 12 ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เป็นชุมชนที่มีการขยายตัวของสิ่งก่อสร้างและประชากรอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นย่านการค้า ธุรกิจ และบริการ สภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับมีพื้นที่ว่างรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี
คนห้วยขวาง
สองฝั่งถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเต็มไปด้วยตึกแถวทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงที่กำลังปรับปรุงก่อสร้างตลอดทาง ตามซอกซอยแน่นขนัดด้วยบ้านเรือนสลับกับคอนโดมิเนียมสูงตระหง่านเสียดฟ้า
เดิมทีชุมชนนี้เป็นย่านคนไทย ทั้งคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเมือง บ้านเรือนส่วนใหญ่เหมือนกับชุมชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ผู้คนรู้จักมักคุ้นกันดี
วรวีร์ แซ่ลี้ หญิงร่างท้วมผิวขาว อายุ 63 ปี หน้าตายิ้มแย้ม สวมแว่นตาและเสื้อยืด กำลังเทน้ำอัดลมใส่ถุงให้ลูกค้า เธอเป็นคนอัธยาศัยดี พูดจาฉะฉาน เมื่อคนในชุมชนเดินผ่านร้านมา เธอจะส่งเสียงทักทายอย่างเป็นมิตร เนื่องจากอยู่ที่นี่มากว่า 40 ปีและเปิดร้านขายของชำติดริมถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ซอย 11 เธอจึงรู้ความเป็นไปของชุมชนดี
“เมื่อก่อนก็ดีนะ คนแถวนี้รักกันมาก รู้จักกันหมด มีอะไรก็เอื้อเฟื้อกัน ประมาณว่า ‘ฉันไม่อยู่ เธอดูบ้านให้ฉันหน่อย’ เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นนะ ถ้าคนที่สนิทกัน เขายังดูแลกันอยู่”
วรวีร์พูดถึงชุมชนนี้อย่างมั่นใจและตรงไปตรงมา เธอยังเสริมอีกว่า บริเวณหน้าปากซอยไม่ค่อยมีคนไทยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะไปเช่าห้องตามซอกซอยข้างใน เหลือแค่เจ้าของบ้านหรือตึกที่ยังไม่ยอมขาย เปิดกิจการเล็ก ๆ ไม่เดือดร้อนอะไร
เพื่อนบ้านของเธอ สินศิริ ประมัยพิมพ์ หญิงชราผู้ยังสวยและดูสดใส แม้อายุเข้าเลขเจ็ดแล้วก็ตาม เล่าด้วยน้ำเสียงนุ่มรื่นหูว่า เธอมาซื้อตึกที่ชุมชนประชาราษฎร์บำเพ็ญเพื่อปักหลักสร้างครอบครัว ในสมัยนั้นราคาตารางเมตรละ 7-8 ร้อยบาท
“สมัยก่อนส่วนใหญ่คนกรุงเทพฯ มาลงหลักปักฐานที่นี่ คนต่างจังหวัดก็มีปะปนกันไป เขามาค้าขายหรือซื้อบ้านอยู่เป็นครอบครัว”
หลังจากซื้อตึก สินศิริคิดทำธุรกิจเล็ก ๆ เลี้ยงครอบครัว เธอมีฝีมือด้านการทำผม ทำเล็บ และเสริมสวยอีกหลายอย่าง จึงเปิดร้านเสริมสวยชื่อ “ส.บิวตี้” ให้บริการคนละแวกนี้มาตลอดระยะเวลา 40 กว่าปี ทำให้เธอรู้จักผู้คนและวิถีชีวิตชุมชนเป็นอย่างดี
“คนแถวนี้ส่วนใหญ่จะค้าขาย มีรับราชการบ้าง บางคนเป็นเจ้าของที่หรือบ้าน ปล่อยเช่าเป็นรายเดือน”
นี่คือเสียงจากคนพื้นที่บางส่วน ก่อนการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของประชากรแฝง
การหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านและความเปลี่ยนแปลง
ย้อนกลับไปปี 2556 มีข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง “การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่ : กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่” โดย ชาดา เตรียมวิทยา ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าชาวจีนเหล่านี้เข้ามาเป็นนักธุรกิจ ครูสอนภาษาจีน พนักงานบริษัท และนักเรียนนักศึกษา โดยมักเดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มในรูปแบบนักท่องเที่ยวหรือนักเรียนเพื่อจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อได้
“คนจีนเข้ามาช่วงก่อนโควิด แรก ๆ ก็มาเป็นคณะทัวร์บ้าง มาเรียนบ้าง บางคนมาหาทำเลค้าขาย เพราะที่นี่เดินทางสะดวก มีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไปเยาวราชก็ง่าย ไปสุวรรณภูมิก็สะดวก เลยเข้ามากันเยอะ คงจะชักชวนกันมา” วรวีร์ กล่าวยืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
เมื่อชาวจีนเข้ามาปักหลักอาศัยเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มักจะอยู่ต่อและหาลู่ทางทำมาหากิน เปิดกิจการหลากหลายประเภท
“ตอนเข้ามาแรกๆ ก็จะขายพวกสินค้าของฝากจีน หรือเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก ขายยาจีน แล้วก็มีร้านอาหาร ร้านเสริมสวย ขนาดร้านแลกเปลี่ยนเงินยังมีเลย”
ฐาปนีย์ เลาหทวีชัย หญิงชราร่างเล็กอายุ 75 ปี อารมณ์ดี พูดเก่ง เล่าไปยิ้มแย้มไปอย่างเป็นกันเอง เดิมทีเธอเป็นคนเยาวราช มาซื้อตึกแถวที่นี่และเปิดร้านเต้าหู้ขนาดเล็กมาเกือบ 40 ปี
ในสายตาผู้อาศัยชุมชนแห่งนี้มานาน เห็นความเจริญด้านเศรษฐกิจซึ่งเข้ามาพร้อมกับชาวจีน สะท้อนผ่านร้านรวงที่ผุดเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ตั้งแต่คนจีนเข้ามา แถวนี้คึกคักและเจริญขึ้นมาก จากเคยซบเซาเป็นแค่ถนนรถผ่าน พอเขาเข้ามาก็มีร้านค้า มีแสงสี มีชีวิตชีวาเหมือนเยาวราช” ฐาปนีย์ออกความเห็นอย่างยิ้มแย้มมีความสุข
ย่านห้วยขวางเป็นแหล่งดึงดูดผู้คนทั้งไทยและต่างชาติ นอกจากร้านอาหารจีนมากมายและอาหารการกินสมบูรณ์ บริเวณแยกห้วยขวางยังมีศาลพระพิฆเนศ สถานที่สักการะบูชาชื่อดัง ที่สำคัญยังมีร้านอาบอบนวดหรือนวดแผนไทยซึ่งดึงดูดชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
“คนจีนชอบไปนวด ตอนกลางคืนก็วัยรุ่น ช่วงกลางวันก็คนแก่ เพราะแถวนี้ร้านนวดเยอะ ผู้หญิงที่นี่นวดแล้วประทับใจ ยิ่งกลางคืนนะ เดินเพ่นพ่านเต็มไปหมด” ฐาปนีย์เล่าสิ่งที่เธอพบเห็นอย่างออกรสและหัวเราะอย่างเป็นมิตร
เธอยังเสริมอีกว่าชาวจีนใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย อาหารไทยคือเสน่ห์อย่างหนึ่งซึ่งดึงดูดให้อยากอยู่ต่อ อีกทั้งยังมีร้านอาหารจีนมากมายเสมือนอยู่ประเทศตัวเอง
แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ เมื่อคนใหม่เข้ามา คนเก่าที่อยู่มาก่อนบางส่วนก็ต้องออกไป
ชาวจีนเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในชุมชนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ทำให้มีการติดต่อเช่าซื้อตึกแถวหรือบ้านจากเจ้าของคนไทยเพื่อทำธุรกิจมากขึ้น คนไทยที่เคยเช่าอาศัยมานานบางส่วนจึงต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น
“เวลาคนจีนอยากได้ตรงไหน เขาก็จะให้นายหน้าคนไทยเข้ามาคุยเสนอราคากับเรา เขามาเช่าเองไม่ได้ เพราะพูดกันไม่รู้เรื่อง บางคนเห็นเงินเยอะ เขาก็ให้เช่า แต่อย่างเรานี่ไม่ได้ปล่อยเช่า” วรวีร์ยืนกรานสิ่งที่เธอพบเจอด้วยตัวเอง และจากคำบอกเล่าเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้เธอยังบอกว่า เมื่อชาวจีนเข้ามาเช่าหรือเซ้งตึกจากคนไทย หลังหมดสัญญาเช่าเพื่อนบ้านหลายคนต้องย้ายออกไปและไม่ได้เจอกันอีกเลย
อำนาจเงินทำให้ทุกอย่างต้องศิโรราบ เป็นเรื่องง่ายได้ทุกสิ่ง
“คนไทยเช่าสามพัน คนจีนเช่าสามหมื่น คนให้เช่าต้องเลือกสามหมื่นอยู่แล้ว เงินเขาเยอะกว่า คนไทยก็ต้องไป” สินศิริ เจ้าของร้าน ส.บิวตี้ พูดด้วยน้ำเสียงเห็นใจคนไทยที่ต้องย้ายออกจากบ้านเช่าที่อยู่มานาน
เฉลิมชัย กุลาเลิศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เขต 5 ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า การเติบโตของชุมชนห้วยขวางถือเป็นการพัฒนาที่รวดเร็วและก้าวกระโดดอย่างมากด้วยหลายปัจจัย เช่น การเข้ามาของคนจีน การเปิดบริการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ทำให้ที่นี่เป็นจุดศูนย์รวมการคมนาคม รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนห้วยขวาง ปัจจัยเหล่านี้ดึงดูดให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนเข้ามาปักหลัก
“หลายคนเรียกย่านนี้ว่า ‘เยาวราช 2’ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาตามมา ที่นี่กลายเป็นเขตใจกลางเมืองกรุงเทพฯ หรืออาจเรียกว่าย่านศูนย์กลางธุรกิจ (central business district) เมื่อรวมกับฝั่งถนนรัชดาฯ และดินแดง”
จากบทสัมภาษณ์ในช่องยูทูบของประชาชาติธุรกิจ ประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล สมาชิกสภากรุงเทพฯ เขตห้วยขวาง กล่าวถึงนักลงทุนชาวจีนในชุมชนประชาราษฎร์บำเพ็ญว่า โดยส่วนใหญ่เป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่พูดไทยไม่ได้เลย ไม่ใช่คนไทยเชื้อสายจีน คนที่เป็นนักลงทุนจะเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่การทำธุรกิจมักมีนอมินีคนไทย นักธุรกิจรายใหญ่จะลงทุน 10–15 ล้านกับธุรกิจในชุมชนนี้
หลังฉากความคึกคักบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเส้นหลัก เข้าไปในซอย 11 ประมาณ 1 กิโลเมตร สองข้างทางแน่นขนัดไปด้วยห้องเช่า บ้านเก่าสภาพทรุดโทรม ผู้คนพลุกพล่านไปมา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยคนไทยผู้ทำมาหากินย่านนี้ เดินลึกเข้าไปในซอยแยกจนถึงทางตันจะเจอบ้านไม้เก่าสองชั้นข้าวของวางทับกันแน่น เป็นบ้านเช่าของ สมัย บุญใส แม่ค้าพวงมาลัย วัย 54 ปี
“ลูกค้าขาประจำเล่าให้ป้าฟัง เขาขายบ้านให้คนจีนหลังละ 10 ล้าน แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เราเลยเสียลูกค้าไปเรื่อย ๆ” เธอเน้นเสียงหนักแน่นจริงจัง
“สมัย” เป็นหญิงชาวอีสาน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาหางานทำ เธออาศัยอยู่ชุมชนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ทำอาชีพขายพวงมาลัยราว 20 ปี เธอบอกว่าสมัยก่อนขายพวงมาลัยรายได้ดี สีหน้าแววตาขณะพูดแสดงถึงการยอมจำนนต่อความจริง จังหวะท่วงทำนองและน้ำเสียงเบาลงราวกับขอความเห็นใจ
“ตอนป้ามาอยู่ใหม่ ๆ มันดีอยู่หล่า มันดีแฮง หาเงินกะง่าย ขายของกะดี เข่นรถออกไปคราวเดียวกะขายเบิ้ด ตอนนี้คนซื้อหน่อย จะให้พวกจีนมาซื้อ เขากะบ่ซื้อดอก”สำเนียงอีสานของเธอนิ่งเรียบจริงใจ
อนาคตชุมชน (ไชน่าทาวน์) ห้วยขวาง
ชุมชนห้วยขวางเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นทำเลทองที่ชาวต่างชาติให้ความสนใจ ไม่ว่าจะในมิติการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ห้างฯ ร้านอาหาร แหล่งสถานบันเทิงยามค่ำคืน ซึ่งจะทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
“ดูจากตอนนี้ก็พอเป็นไปได้นะ อย่างตอนนี้มีรถไฟฟ้า ไปไหนมาไหนสะดวก เดินทางไปได้หมด แต่ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม อย่างโควิดรอบที่ผ่านมา” วรวีร์กล่าวในฐานะผู้ผูกพันและสังเกตการณ์ในชุมชน
คำตอบของเธอบอกความเห็นในทางเดียวกับ สินศิริ ที่ว่าชุมชนนี้จะกลายเป็นไชน่าทาวน์แห่งใหม่ ในภาษาจีนเรียกว่า “ถังเหรินเจีย” (唐人街)
“เมื่อต้นปีทางสำนักงานเขตฯ ทำซุ้มป้ายว่า ห้วยขวางไชน่าทาวน์ 2566 มีภาษาจีน ตกแต่งด้วยโคมสวยงาม คนผ่านไปมา โดยเฉพาะคนจีนถ่ายรูปกันใหญ่เลย” ฐาปนีย์ คนอยู่ห้วยขวางมาหลายสิบปี กล่าวพร้อมยิ้มแย้มยินดี
ยังไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ประจักษ์สายตา คือชุมชนห้วยขวางคับคั่งไปด้วยชาวจีน
เมื่อความเจริญนำสิ่งใหม่เข้ามาก็พัดพาสิ่งเก่าให้ปลิวหาย คนในชุมชนจะหาทางออกในการอยู่ร่วมกับผู้คนที่เข้ามาใหม่นี้อย่างไร หรือรอวันถูกกลบหายไปในที่สุด…
อ้างอิง
- ชาดา เตรียมวิทยา. (2559). การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่:กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่(รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- สำนักงานเขตห้วยขวาง. (ม.ป.ป.) ข้อมูลทั่วไปในพื้นที่. สืบค้น 25 กรกฎาคม 2566, จาก https://webportal.bangkok.go.th/huaikhwang/
- ประชาชาติธุรกิจ. (31 ม.ค. 2023). เปิดที่มา “มณฑลห้วยขวาง” ไชน่าทาวน์ 2 ทุนจีนยึดธุรกิจร้านอาหาร[วีดีโอ]. ยูทูบ. https://www.youtube.com/watch?v=6eXlyx0uA5Q