๏ พระสุทัศน์สถิตย์ถ้ำ เถื่อนรหง
ครองเครื่องนักสิทธิ์ทรง ห่อเกล้า
ลมคั่งค่อหัดถ์ชงฆ์ หัดถ์ช่วย ดัดแฮ
นั่งกระหย่งยุดเท้า หัดถ์ช้อยเช่นรำฯ

พระยาธิเบศร์บดี

ตามรอยฤๅษีดัดตน ตอน 40 - สุทัศน์

(ถอดความ) ฤๅษีสุทัศน์ผู้อาศัยอยู่ในถ้ำกลางป่า นุ่งห่มอย่างฤๅษี และเกล้าผมมวย ยามเมื่อเกิดลมคั่งในข้อมือข้อเท้า ท่านจะนั่งกระหย่ง (หรือกระโหย่ง คือนั่งเอาปลายเท้าตั้งลงที่พื้น ส้นเท้าทั้งสองรับน้ำหนักตัว) มือข้างหนึ่งดึงข้อเท้า อีกมือหนึ่งดัดนิ้วให้อ่อนช้อยเหมือนทำท่าฟ้อนรำ

เมื่อพระรามออกเดินดง พร้อมด้วยพระลักษมณ์และนางสีดา ระหว่างทางได้พบกับฤๅษีสุทัศน์ อดีตกษัตริย์ผู้สละราชสมบัติออกบวช พร้อมด้วยพระนางศุกไขเทวี พระมเหสี ดังในบทละคร “รามเกียรติ์” ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เล่าว่า

๏ เมื่อนั้น
มหาดาบสพรตกล้า
เห็นสามสุริย์วงศ์กษัตรา
ดวงพักตร์ลักขณาละกลกัน
สองเจ้างามจับดวงเนตร
ดั่งเทเวศร์ลงมาจากสวรรค์
โฉมนางทรงลักษณ์วิไลวรรณ
ดั่งพระจันทร์ผ่องแผ้วเมฆา
จึ่งตอบมธุรสอันสุนทร
ดูกรหลานรักเสน่หา
เราสองนี้เป็นกษัตรา
ครองกรุงปัญจาธานี
ทรงนามชื่อว่าท้าวสุทัศน์
นางกษัตริย์นี้เป็นมเหสี
ชื่อว่าศุกไขเทวี
ไม่มีบุตรีโอรส
สละสมบัติพัสถาน
มาจำเริญฌานเป็นดาบส
อยู่ในหิมวันต์บรรพต
กำหนดหมื่นปีล่วงไป
อันเจ้าซึ่งมาทั้งสององค์
นามกรสุริย์วงศ์เป็นไฉน
เหตุใดไม่อยู่เวียงชัย
บวชเป็นชีไพรเที่ยวมา ฯ

ฤๅษีสุทัศน์ชักชวนพระรามให้พำนักอยู่ด้วยกัน แต่พระรามเห็นว่ายังใกล้พระนครเกินไป จึงออกเดินทางต่อ


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ