๏ โควินทร์แนะกกให้     รามแผลง อสูรฤๅ
สาปไก่นนทรีแรง     ฤทธิ์เฝ้า
อัมพฤกพิบัติแสดง     ดัดดับ คลายนอ
ตั้งซ่นสองมือเข้า     ประทับข้างขืนองค์ฯ

พระศรีวิสุทธิวงศ์

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๔๒) โควินทร์

(ถอดความ) ฤๅษีโควินทร์ ผู้แนะให้พระรามใช้ต้นกกเป็นลูกศรแผลงไปตรึงอสูรไว้ โดยมีไก่แก้วและนนทรีคอยเฝ้า ท่านเกิดลมอัมพฤกขึ้น จึงนั่งตั้งส้นเท้า แล้วเอามือทั้งสองดันที่ข้างลำตัว

คำว่า “ลมอัมพฤกษ” มีอยู่ใน “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) ซึ่งเป็นพจนานุกรมภาษาไทยยุคแรกๆ พิมพ์เมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ในปี ๒๔๑๖ โดยให้ความหมายว่า “คือลมเกิดในกายมนุษที่มีชีวิตรเปนปรกติ เต้นอยู่เปนนิจนั้น” หากพิจารณาตามคำจำกัดความนี้ ท่าฤๅษีดัดตนที่แสดงแบบโดยฤๅษีโควินทร์ คงใช้เพื่อแก้อาการติดขัดของลมอัมพฤกนั่นเอง

ในบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ มีตอนหนึ่งกล่าวถึงท้าวอรุณาราช ซึ่งไม่ว่าพระรามจะใช้อาวุธชนิดใดๆ ก็มิอาจทำอันตรายได้ กระทั่งมีพระฤๅษีตนหนึ่งแนะพระรามให้ใช้ต้นกกเป็นลูกศร พระรามจึงแผลงศรต้นกกตรึงร่างท้าวอรุณาราชไว้ แล้วสาบซ้ำว่า

ให้เกิดไก่แก้วอลงกรณ์
กับนนทรีถือค้อนเหล็กใหญ่
อยู่รักษาอสุรานี้ไว้
ให้ได้ถึงแสนโกฏิปี
แม้นเห็นกกเลื่อนเคลื่อนคลาด
จากอกอุณาราชยักษี
ไก่นั้นจึ่งขันขึ้นทันที
นนทรีเร่งเอาพะเนินรัน

ในกลอนวรรคสุดท้าย “พะเนิน” แปลว่าค้อนขนาดใหญ่ อย่างค้อนที่ใช้ตีเหล็กหรือทุบหิน ส่วน “รัน” แปลว่าตี อย่างในสำนวนไทยที่เป็นคำสี่พยางค์ว่า “ตีรันฟันแทง” ความใน “รามเกียรติ์” จึงสอดคล้องกับโคลงฤๅษีดัดตนบทนี้ เว้นเสียแต่ว่าใน “รามเกียรติ์” กลับออกนามฤๅษีผู้เป็นต้นคิดเรื่องลูกศรต้นกก ว่า “โคศภ” มิใช่ “โควินทร์”

เรื่อง “รามเกียรติ์” ตอนนี้ยังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตำนานเมืองลพบุรี โดยเล่าว่าท้าวอุณาราช หรือท้าวกกขนาก ถูกศรพระรามลอยมาตกตรึงติดพื้น กลายเป็นภูเขาอยู่ ณ เมืองลพบุรี ฝ่ายนางนงประจันต์ ธิดาของท้าวกกขนาก ติดตามมาเฝ้าพ่อ ภูเขาลูกนั้นจึงเรียกกันว่า “เขานงประจันต์” และว่าจนถึงทุกวันนี้ นางนงประจันต์ยังคงนั่งทอผ้าด้วยใยบัวไว้รอถวายพระศรีอาริยเมตไตรย์พุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล เพื่อเป็นกุศลผลบุญให้แก่บิดา อยู่ในถ้ำบนเขาลูกนั้น ซึ่งในบัดนี้ เรียกเพี้ยนไปเป็น “เขาวงพระจันทร์” อยู่ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ