๏ นาไลยไกรเกริกฟ้า ดินขาม
หมู่แพทย์พึงนับนาม ท่านไหว้
บาทาธึกกะทกตาม ตาตุ่ม แลพ่อ
กดเข่าเหนี่ยวแข้งให้ ซ่นเท้ามละลมฯ

พระศรีวิสุทธิวงศ์

nalai00

(ถอดความ) ฤๅษีนาไลย ผู้ยิ่งใหญ่ แม้แต่ฟ้าดินยังเกรงกลัว เหล่าแพทย์พึงกราบไหว้นับถือเป็นครูบาอาจารย์ ยามท่านเกิดอาการเส้นบาทาธึกกระตุกที่ตาตุ่ม จึงยกเท้าขึ้นกดที่เข่า พร้อมกับเอามือเหนี่ยวแข้งไว้ เพื่อแก้ลมในส้นเท้า

“บาทาธึก” ในโคลงบทนี้ (บางทีสะกด บาทาทึก) เป็นชื่อเรียกเส้นที่มีทางเดินเริ่มจากส้นเท้า โค้งไปตามฝ่าเท้า จนถึงด้านในของหัวแม่เท้า ส่วน “กะทก” (หรือ กระทก) แปลว่ากระตุก ในที่นี้จึงถอดความ “บาทาธึกกะทกตาม ตาตุ่ม” ว่ามีอาการเส้นบาทาธึกกระตุกที่ตาตุ่ม ซึ่งเป็นการแปลตรงตามตัวอักษรเท่านั้น จึงยังคงต้องอาศัยผู้มีความรู้ด้านวิชาแพทย์แผนไทยมาช่วยแก้ไข หรืออธิบายเสริม ว่าการถอดความเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ ต่อไป

แม้ยังค้นไม่พบว่านาม “ฤๅษีนาไลย” นี้มาจากตำราหรือวรรณคดีเรื่องใด แต่เมื่อพิจารณาตามความใน “โคลงฤๅษีดัดตน” ที่ว่า “หมู่แพทย์พึงนับนาม ท่านไหว้” ส่อแสดงว่าในยุคนั้น คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ฤๅษีนาไลยน่าจะเคยเป็นที่นับถือกันในฐานะ “ครูบาอาจารย์” คนสำคัญของเหล่าแพทย์ อันหมายถึงแพทย์แผนไทยโบราณ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็นับว่าน่าแปลกที่นามนี้กลับสูญหายไปจากความรับรู้แล้ว

อนึ่ง แม้ว่านามฤๅษี “นาไลย” อาจชวนให้นึกถึงฤๅษีสัชนาไลย ซึ่งมีปรากฏทั้งในคัมภีร์ “ชินกาลมาลีปกรณ์” และ “พงศาวดารเหนือ” ว่าเป็นผู้สร้างเมืองสวรรคโลก แต่ในที่นี้ย่อมมิได้หมายความถึงฤๅษีสัชนาไลยเป็นแน่ เพราะต่อไปข้างหน้ายังมีโคลงบทอื่นๆ ที่ระบุนามกลุ่มฤๅษีผู้สร้างเมืองสวรรคโลกจาก “ชินกาลมาลีปกรณ์” ไว้จนครบชุดห้าตน คือ ฤๅษีสุกทันต์ ฤๅษีสัชนาไลย ฤๅษีวาสุเทพกับฤๅษีสุพรหม และฤๅษีพุทธชฎิล

แต่ในอีกทางหนึ่ง นามฤๅษีนาไลยนี้ ฟังดูน่าจะสามารถจัดชุดเข้าคู่กันได้กับฤๅษีนารอท เป็น นารอท-นาไลย ในทำนองเดียวกับฤๅษีตาวัว-ตาไฟด้วย


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ