๏ พระวัชมฤคเลี้ยง     บุตรลบ
นั่งหย่องสองมือจบ     เจิดหน้า
แก้เส้นสดุ้งขบ     เอวยอก หายนอ
ใครหย่าหมิ่นประมาทถ้า     ท่านท้าให้ลองฯ

พระศรีวิสุทธิวงศ์

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๔๔) วัชมฤค

(ถอดความ) ฤๅษีวัชมฤค ผู้เลี้ยงดูพระบุตรพระลบ ทำท่านั่งหย่อง (หรือนั่งกระแหย่ง) สองมือยกขึ้นประสานกันเบื้องหน้า เพื่อแก้อาการยอกเอวเส้นขบ (ขอให้ผู้ที่พบเห็น) อย่านึกสบประมาทท่า (ถ้า) นี้ (ถ้าไม่เชื่อ) ขอท้าให้ลองทำด้วยตนเอง

ฤๅษีวัชมฤคปรากฏนามในบทละคร “รามเกียรติ์” บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ช่วงหลังเผด็จศึกกรุงลงกา พระรามเกิดสงสัยในตัวนางสีดา จึงสั่งลงโทษประหารชีวิต แต่พระลักษมณ์ลอบปล่อยให้รอด ฤๅษีวัชมฤคซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ ณ ป่ากาลวาต ได้รับอุปการะนางสีดาไว้ นางสีดาจึงมาคลอดโอรสที่ประสูติแต่พระราม ระหว่างที่พำนักอยู่กับฤๅษีวัชมฤค ต่อมาพระฤๅษียังวาดรูปเด็ก แล้วชุบให้เป็นกุมารขึ้นอีกองค์หนึ่ง มีรูปลักษณ์ดุจเดียวกันกับโอรสของนางสีดา เพื่อให้เป็นน้องและเป็นเพื่อนเล่นด้วยกัน ภายหลัง โอรสนั้นได้นามว่าพระมงกุฎ ส่วนกุมารที่ชุบขึ้นมีชื่อว่าพระลบ หรือที่มักเรียกกันว่า พระบุตร-พระลบ อย่างที่ออกนามในโคลงบทนี้ว่า “บุตรลบ”

๏ เมื่อนั้น
พระดาบสผู้ทรงสิกขา
พิเคราะห์ฤกษ์ยามตามเวลา
ทั้งชันษาสองกุมาร
เลือกหาที่เป็นศรีสวัสดิ์
โดยนามกษัตริย์มหาศาล
ได้ทั้งอายุศม์บริวาร
เปล่าปลอดจากกาลกิณี
จึ่งว่าลูกนางในอุทร
นามกรมงกุฎเป็นพี่
อันรูปซึ่งชุบในอัคคี
มีนามชื่อลบอนุชา
ให้สองสุริย์วงศ์ทรงสวัสดิ์
สืบพงศ์จักรพรรดิไปภายหน้า
จงเรืองฤทธิ์สิทธิศักดิ์มหึมา
ทั้งไตรโลกาอย่าเทียมทัน ฯ

ในภาพ วาดเป็นรูปกุมารเกล้าจุกสององค์นั่งเคียงกับพระฤๅษี ผู้ที่ถือกระดานอยู่ย่อมได้แก่พระลบ ดังนั้นอีกองค์หนึ่งก็ต้องเป็นพระมงกุฎ หรือพระบุตร


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ