ตามรอยฤๅษีดัดตน (๔๖) สุธามันต์

๏ แบะขาคู่เข่าเข้า ซ่นเสมอ
บิดไหล่หงายแขนเผยอ ยืดไว้
เวียนเศียรจิตรใจเผลอ พลันเสื่อม ส่างนอ
พระสุธามันต์ได้ ดัดแล้วอย่าฉงนฯ

พระพุทธโฆษาจารย์

(ถอดความ) ท่านั่งแบะขางอเข่า ส้นเท้าเสมอกัน พร้อมกับยืดแขนทั้งสองข้างไปทางด้านหน้า มือจับกันไว้ให้มั่น แล้วบิดไหล่ให้ท้องแขนหงายขึ้น ใช้แก้อาการเวียนศีรษะ ใจลอย พระฤๅษีสุธามันต์ได้แสดงท่านี้ไว้ให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว มิต้องสงสัย

ฤๅษีสุธามันต์ในโคลงบทนี้น่าจะตรงกับ “สุธามันตัน” จากบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ฤๅษีผู้เป็นที่นับถือของท้าวชนก เมืองมิถิลา ซึ่งเลี้ยงดูนางสีดาเป็นธิดาบุญธรรม ดังนั้นท่านจึงได้รับนิมนต์ไปในการพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างพระรามกับนางสีดาด้วย

ณ วาระนั้น พระมหาฤๅษีทั้งสาม อันได้แก่วสิษฐ์และสวามิตร ซึ่งเป็นนักพรตผู้เป็นที่นับถือของท้าวทศรถ เจ้ากรุงอโยธยา (คือเป็นแขกผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว) กับสุธามันตัน (ถือเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว) ยังได้ร่วมกันเป็นประธานรดน้ำสังข์ น้ำกลศ (กลศ หมายถึงหม้อน้ำ) อันเป็นปัญจมหานที คือน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าในชมพูทวีป ให้แก่พระรามและนางสีดา

๏ เมื่อนั้น
พระวสิษฐ์สวามิตรฌานกล้า
พระสุธามันตันผู้ปรีชา
ทั้งสามพระมหามุนี
จึ่งเอาน้ำสังข์นํ้ากลศ
รดพระจักราเรืองศรี
กับนางสีดาเทวี
พราหมณ์ชีพร้อมกันอำนวยพร
สององค์จงทรงศรีสวัสดิ์
เสวยแสนสมบัติสโมสร
เป็นสุขอยู่ทุกนิรันดร
สถาวรอย่ามีโรคัน ฯ


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ