๏ พระชนกนักสิทธิ์นี้ ชนะมาร ไตรเพทไตรพิธญาณ ย่อมแจ้ง ยอกไหล่ยอกตะโพกปาน ปืนปัก อยู่นอ คู้เข่าศอกกดแข้ง หัดถ์เคล้นไคลทรวงฯ
พระรัตนมุนี
(ถอดความ) ฤๅษีชนก ผู้ชนะมาร ผู้รู้แจ้งในไตรเพท (คัมภีร์พระเวททั้งสามของพราหมณ์ อันได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท) และไตรพิธญาณ (ญาณทั้งสามในพุทธศาสนา คือ สัจจญาณ – หยั่งรู้อริยสัจ ๔ / กิจจญาณ – หยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ ๔ / กตญาณ หยั่งรู้ว่ากิจอันจะต้องทำในอริยสัจ ๔ โดยแต่ละอย่างนั้นได้ทำสำเร็จแล้ว) เมื่อเกิดอาการยอกไหล่ ยอกตะโพก เจ็บปวดเหมือนมีลูกศรปักอยู่ (“ปืน” ตามความหมายภาษาโบราณ แปลว่าลูกศร) ท่านใช้การนั่งงอเข่า เอาศอกกดที่แข้ง พร้อมกับมือนวดเฟ้นที่อก
แม้ว่าในโคลงจะกล่าวว่าฤๅษีตนนี้ “ชนะมาร” อีกทั้งยังรู้แจ้งในไตรเพทและไตรพิธญาณ ฟังดูเหมือนจะเป็นบุคคลในเรื่องราวทางพุทธศาสนา หากแต่เมื่อพิจารณาจากบริบทว่าฤๅษีจากโคลงบทอื่นๆ กว่าครึ่งค่อน ล้วนเป็นกลุ่มที่ปรากฏตัวในบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ดังนั้น ฤๅษีชนกในที่นี้ น่าจะหมายถึงท่านผู้เป็นอดีตท้าวชนกจักรวรรดิ ผู้ครองเมืองมิถิลา ต่อมาเกิดเบื่อหน่ายราชสมบัติ จึงออกบวชเป็นฤๅษีชนก วันหนึ่งออกไปสรงน้ำ (อาบน้ำ) ที่ท่าน้ำ ได้พบผอบลอยมา
๏ มาจะกล่าวบทไป
ถึงพระชนกฤๅษี
เคยลงไปสรงวารี
ในท่านทีไม่เว้นวัน
ครั้นถึงเวลาจึ่งเรียกโยม
อันชื่อนายโสมคนขยัน
ให้ถือผ้าชุบอาบพระนักธรรม์
ก็พากันลงไปยังคงคา ฯ
๏ มาถึงซึ่งท่าชลธาร
องค์พระอาจารย์ฌานกล้า
แลเห็นผอบรจนา
งามดั่งดาราไม่ราคิน
วางอยู่ในดวงปทุมทอง
แสงส่องจับพื้นกระแสสินธุ์
ก็โถมลงไปยังวาริน
เร็วดั่งครุฑบินในเมฆา ฯ
๏ ฉวยได้ผอบสุวรรณ
พระนักธรรม์ชูไว้ในหัตถา
ก็ว่ายฝืนคืนกลับเข้ามา
ยังท่ามหาวารี ฯ
พระฤๅษีเปิดดูข้างในผอบ พบทารกเพศหญิง จึงรับอุปการะเป็นธิดาบุญธรรม
ทารกเพศหญิงนั้น แท้จริงแล้วคือธิดาของท้าวทศกัณฐ์กับนางมณโฑ แต่ถูกนำมาถ่วงน้ำด้วยมีคำทำนายเมื่อแรกเกิดว่าเป็นกาลกิณีแก่บ้านเมือง ในเวลาต่อมา เธอได้รับนามว่า “สีดา”
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ