๏ นักพรตประพฤติสร้าง     จรรยา
เชิดชื่อกระบิลดา บสเจ้า
เท้าซ้ายไขว่เพลาขวา มือหน่วง เข่าเอย
ลมระงับจับเย็นเท้า อีกทั้งสวิงสวายฯ

หลวงลิขิตปรีชา

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๕๐) กระบิล

(ถอดความ) นักพรตผู้ประพฤติดีนามว่ากระบิล แสดงท่าเอาเท้าซ้ายมาไขว่ห้างเหนือต้นขาขวา แล้วเอามือรั้งเข่าไว้ เพื่อแก้ลมที่ทำให้เท้าเย็น และใจคอสวิงสวาย

ฤๅษีผู้มีนามว่ากระบิล หรือกบิลดาบส ปรากฏอยู่ในตำนานเมืองกบิลพัสดุ์ ว่าเป็นฤๅษีพระโพธิสัตว์ผู้ถวายที่ดินบริเวณอาศรมแก่บรรดาโอรสของพระเจ้าโอกกากราชเพื่อสร้างเมืองใหม่ แล้วจึงให้ขนามนามกรุงตามนามพระฤๅษี ดังความในปริเฉทที่ ๑ ของ “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์ในกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่า

“ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์แห่งเราบังเกิดในสกุลพราหมณมหาศาลมีนามกบิลพราหมณ์ พิจารณาเห็นโทษในเบญจกามคุณจึงเสียสละสมบัติออกบรรพชาเป็นดาบส ไปสร้างบรรณศาลาสถิตอยู่ในสากพนสณฑ์ แทบใกล้ฝั่งสระโบกขรณี อันมีอยู่ ณ ชายป่าหิมวันตประเทศ…ครั้นพระผู้เป็นเจ้าเห็นพระราชกุมารทั้งหลาย ยาตราพลาพลนิกายมาเป็นอันมาก จึงได้ถามทราบความว่าสืบแสวงหาที่จะสร้างพระนคร ก็มีความกรุณาปรารถนาจะอนุเคราะห์ให้เป็นประโยชน์แก่พระราชกุมารทั้งปวง จึงบอกเหตุว่า บพิตรจงสร้างพระนครลงในที่บริเวณบรรณศาลาของอาตมานี้เถิด แลเมืองอันนี้นานไปภายหน้าจะเป็นอัครนครปรากฏในชมพูทวีป…พระราชกุมารจึงเผดียงถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไปอยู่ ณ ที่ใด ดูก่อนบพิตร อย่าได้ทรงพระปริวิตกเลย ด้วยที่อยู่ของอาตมา แลอาตมาก็จะไปสร้างบรรณศาลาอยู่ ณ ที่ข้างหนึ่งนอกพระนคร บพิตรจงตั้งนามกรเมืองนี้ชื่อกรุงกบิลพัสดุ์เถิด”

การตั้งนามกรุงตามนามฤๅษีเช่นนี้ปรากฏเป็นขนบการเล่าเรื่องที่พบในวรรณกรรมหรือตำนานอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่นตอนต้นของกลอนบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ กล่าวว่าพระอิศวรมีเทวบัญชาให้พระอินทร์ลงไปสร้างเมืองถวายเทวราชกุมาร พระอินทร์จึงเสด็จมายังชมพูทวีป ได้พบฤๅษีสี่ตน เมื่อพระอินทร์แจ้งว่าพระอิศวรให้มาสร้างเมืองใหม่ ฤๅษีทั้งสี่จึงให้สร้าง ณ ตำแหน่งของอาศรม โดยขอให้นำพยางค์ต้นของชื่อตัว ได้แก่ อัจนะคาวี (อะ) ยุทอักขระ (ยุท) ทหะ (ทะ) และยาคะ (ยา) รวมกันเป็นนามกรุง “อยุธยา”

รวมถึงฤๅษีสัชนาไลยใน “พงศาวดารเหนือ” ซึ่งเป็นผู้สร้างเมืองศรีสัชนาลัย หรือสวรรคโลก


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ