ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงานและถ่ายภาพ

เมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ กันยายน ๒๕๖๖ เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง หรือ Citizens’ Forest Network (CF-NET) ได้ร่วมกับ ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า หรือ รีคอฟ (RECOFTC) จัดประชุมเวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง ประจำปี ๒๕๖๖ ขึ้น ณ โรงแรมไมด้า ดอนเมือง แอร์พอร์ท กรุงเทพมหานคร โดยเชิญตัวแทนสมาชิกเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมืองและภาคประชาสังคมที่ทำงานภาคป่าไม้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำเสนอข้อมูล “ป่าชุมชน” ในมิติต่างๆ อาทิ นิยามความหมาย ความสำคัญ บทบาทของชุมชนในการจัดการดูแลป่า ฯลฯ

เครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง หรือ CF-NET เกิดจากการรวมตัวกันของคนทำงานป่าชุมชน ๓๘ จังหวัด ใน ๕ ภูมิภาคของประเทศไทย ร่วมผลักดันสิทธิด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน วาระการทำงานของเครือข่ายฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในพื้นที่ป่าที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายป่าไม้ แต่พยายามขยายการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน พื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามประกาศคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ของรัฐบาล ขณะที่รีคอฟอยู่ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ สนับสนุนให้ชุมชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมผลักดันนโยบายด้านการจัดการป่าไม้

พัฒนาการป่าชุมชนมีมายาวนานและมีการจัดตั้งป่าชุมชนกระจายไปทั่วประเทศ ในปี ๒๕๔๐ ประเด็นสิทธิชุมชนได้รับการผลักดันจนสามารถเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก และต่อมามีการพัฒนานโยบายและกฎหมายหลายฉบับทั้งจากนักการเมือง หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ในปี ๒๕๖๒ สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทรโอชา มีกฎหมายหลายฉบับถูกบัญญัติขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับป่า เกิดลักษณะความสัมพันธ์ที่แตกต่างหลากหลายตามมา

ประเด็นเรื่องคนกับป่าในเขตอนุรักษ์ถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยเฉพาะมาตรา ๖๔ ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ และมาตรา ๑๒๑ ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ ว่าด้วยพื้นที่ทำกินในเขตป่าและมีเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ ส่วน พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.๒๕๖๒ ก็ให้สิทธิชุมชนนอกพื้นที่อนุรักษ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูกว่าด้วยการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ของรัฐและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ประเด็นต่างๆ ทางกฎหมายข้างต้นเป็นพัฒนาการเรื่องสิทธิชุมชนที่มีรายละเอียดลึกลงไปในแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ดี ตลอด ๓๓ ปีที่ผ่านมา บริบทต่างๆ ในสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก วันนี้สังคมโลกรวมถึงไทยกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนิโญ ปรากฎการณ์ไฟป่า เกิดคำถามตามมาว่าป่าชุมชนและชุมชนที่อยู่กับป่าจะมีบทบาทอย่างไร

หัวใจของคำว่า “ป่าชุมชน” ซึ่งครอบคลุมผืนป่าในพื้นที่หลากหลายรูปแบบคืออะไร การคำนึงถึงสิทธิและให้อำนาจตัดสินใจกับคนในท้องถิ่นจะยังคงได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมหรือไม่ คำถามเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจกับความหมายของป่าชุมชน

ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น จึงเป็นที่มาของหนึ่งในวาระสำคัญในเวทีสมัชชาป่าไม้ภาคพลเมือง ประจำปี ๒๕๖๖ คือ การจัดเวทีเสวนาสาธารณะหัวข้อ “ป่าชุมชน ความหมายและความสำคัญ และประเด็นฝากถึงรัฐบาลใหม่”

ป่าชุมชนมีความหมายและคุณค่าอย่างไร อะไรคือความก้าวหน้าของกฎหมายป่าชุมชน ตลอดจนข้อห่วงใยที่อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่วิทยากรทั้ง ๖ คนร่วมแลกเปลี่ยน

ป่าชุมชน

“สิทธิชุมชนได้รับการสถาปนาในระดับรัฐธรรมนูญ แต่สาระในรายละเอียดยังมีข้อขัดข้อง”

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเขียนกฎหมายป่าชุมชนให้สมบูรณ์นั้นยากมาก เพราะกระบวนการป่าชุมชนมีพลวัตรสูง ที่ผ่านมาสิทธิชุมชนได้รับการสถาปนาในระดับรัฐธรรมนูญ แต่สาระในรายละเอียดยังมีข้อขัดข้อง

บนสถานการณ์ทางการเมืองบทบาทของชุมชนค่อนข้างถูกตั้งคำถามและไม่ได้รับความไว้วางใจ ลักษณะของกฎหมายป่าชุมชนเป็นเรื่องการแบ่งอำนาจส่วนกลางมายังส่วนภูมิภาค การออกแบบกฎหมายลักษณะนี้ กลไกภาครัฐที่ไม่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงจะทำให้การดำเนินงานเป็นอีกแบบ ระบบราชการขาดโอกาสหยิบเอาข้อจำกัดต่างๆ มาปรับปรุง การเดินในกลไกของกฎหมายจึงมีอุปสรรคหลายประการ

หลายข้อพบว่ากระบวนการเตรียมความพร้อมชุมชนไม่ได้ทำไว้ รัฐไม่มีงบประมาณจัดสรรไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย และการดำเนินงานของรัฐก็จึงมุ่งเน้นไปที่เชิงปริมาณเพื่อบรรลุตัวชี้วัดมากกว่าเสริมสร้างศักยภาพขบวนการของชุมชนหรือผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

อยากฝากถึงรัฐบาล ว่ามีปัญหาหลายข้อที่พบจากการใช้กฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องระยะเวลาที่ให้จดทะเบียนป่าชุมชนภายในสองปี ศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่าขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะว่ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิแต่กฎหมายนี่ตัดสิทธิ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้คิดว่าต้องปลดล็อก เรื่องที่สองคือ วาระกฎหมายป่าชุมชนเกิดขึ้นจากการเอาส่วนราชการเป็นตัวตั้ง ฐานคิดที่เอาส่วนราชการเป็นตัวตั้งขัดแย้งกับสิทธิชุมชนโดยตรง ประเด็นที่เราเคลื่อนกันมาตั้งแต่ยี่สิบกว่าปีที่แล้วสมัยอาจารย์เสน่ห์คือสิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร แต่กฎหมายป่าชุมชนเกิดขึ้นบนฐานคิดที่ว่าการจัดการทรัพยากรที่ประชาชนมีส่วนร่วม โจทย์จึงคนละอย่างกัน การออกกฎหมายจึงอยู่บนกรอบคิดคนละวิถีกัน เพราะฉะนั้นกฎหมายที่ออกมาจำนวนมากในช่วงปี ๒๕๖๒ จึงเป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนแนวคิดชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรกับภาครัฐ ไม่ใช่เรื่องของสิทธิชุมชนโดยตรง

หลังรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มีความพยายามผลักดันกฎหมายสิทธิชุมชนออกมา แต่ว่ากฎหมายนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน สิทธิชุมชนยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเต็มที่ อาจจะมีการรับรองโดยคำพิพากษาของศาลบ้างนิดหน่อย รับรองสิทธิในการเรียกร้องแต่ไม่ได้รับรองในฐานะที่เป็นหน่วยในทางกฎหมายเหมือนกับบุคคลธรรมดา สอดคล้องกับที่คุณเดโช [เดโช ไชยทัพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)] แสดงความเห็นว่า ฐานคิดทางกฎหมายของไทยมีแนวคิดมองเห็นเพียงรัฐและปัจเจก แต่ไม่มีชุมชน ความคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ขบวนการป่าชุมชนทำให้เห็นตัวศักยภาพของชุมชน เห็นปรากฎการณ์ว่ามีอยู่จริง เพียงแต่ว่าจะหาวิธีการอย่างไรให้เกิดการรับรอง การมีอยู่ของชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกฎหมายรับรอง แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ซึ่งกระบวนการและระบบกฎหมายไม่ยอมรับ

ประเด็นต่อมาที่อยากชวนมองต่อคือ หากจัดกลุ่มชุมชนออกเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง กลุ่มกลางๆ และกลุ่มที่เพิ่งเริ่ม กลุ่มที่หนึ่งส่งเสริมให้มีตัวแทนไปนั่งในระดับชาติได้ ส่วนกลุ่มที่สองและสามบทบาทรัฐจะเข้าไปเสริมอย่างไร ผมคิดว่ากฎหมายป่าชุมชนที่ออกมานำไปสู่ขบวนการดังกล่าว ภาครัฐจะปรับตัวอย่างไร เป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้กฎหมายป่าชุมชนไปลดความเหลื่อมล้ำ

การยกระดับสิทธิชุมชน ดูจากกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ละกฎหมายมีกรรมการของตัวเอง แต่กรรมการเหล่านี้ไม่เคยมาคุยกัน จะทำอย่างไรให้กรรมการเหล่านี้มาคุยกัน เอาเศรษฐกิจสีเขียวเป็นตัวตั้ง และปรับโครงสร้างกฎหมายของรัฐใหม่ นอกจากจะปรับโครงสร้างข้างบนแล้ว ในระดับ อบต.ต้องนำแผนมาประสานกับระดับบน พื้นที่ไหนพร้อมท้องถิ่นกับเครือข่ายป่าชุมชนมาร่วมมือกัน ช่วยกันหาทางออก ข้อสองทำอย่างไรให้กฎระเบียบต่างๆ ออกมากลางๆ ให้เจตนาดี ต้องเพิ่มเติมอนุบัญญัติทั้งหลายเป็นลักษณะปลดล็อกให้ชุมชน ภาครัฐนอกจากกฎหมายป่าชุมชนยังมีกฎหมายแวดล้อมเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายกลายมาเป็นอุปสรรค

pachumchon02

“จะทำอย่างไรให้ประเพณีสอดคล้องกับระเบียบกฎหมาย”

เขมจิรา ชุมปัญญา
ตัวแทนเครือข่ายป่าไม้ภาคพลเมือง จ.สกลนคร

ความสนใจของผู้หญิงจะอยู่ที่เรื่องปากท้อง จึงแยกไม่ออกจากเรื่องป่าชุมชน เรื่องป่าไม้ที่ดิน บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงถูกกำหนดโดยจารีตประเพณี ชุมชนมีหลากหลายชาติพันธุ์ ความเชื่อ วิถีการดำรงชีวิต ในฐานะผู้หญิงต้องตั้งรับปรับตัวในเรื่องต่าง ๆ ตอนนี้เรามีความก้าวหน้าในการเคลื่อนองค์กรโดยแบ่งผู้หญิงออกเป็นกองหน้า กองกลาง กองหลัง เยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่ในระดับนโยบายผู้หญิงจะอยู่กองหลัง ในความเป็นจริงจะอยู่กองไหนก็สำคัญ โดยระดับชุมชนผู้หญิงคือคนตัดสินใจสุดท้ายเลยก็ว่าได้ ผู้ชายประชุมกันแล้วในบางเรื่องต้องกลับมาถามคนที่บ้านก่อน

ภูมิปัญญาของผู้หญิงสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ เช่นการใช้สีย้อมผ้าธรรมชาติ อาหาร รีคอฟมีโครงการอบรมนักจัดการป่าไม้ภาคพลเมือง ไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตจากป่า ข้อมูลป่าเหล่านี้มีคุณค่าและมูลค่าอย่างไร ข้อมูลอย่างนี้จะนำกลับไปสู่ชุมชน และในอนาคตผู้หญิงจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรในท้องถิ่น

ทุกวันนี้โลกเปิดกว้างขึ้น ผู้หญิงเป็นผู้ใหญ่บ้านหลายท่านจึงมีบทบาทในสังคมด้วย ผู้หญิงจำเป็นต้องมีกลุ่มก้อน ต้องมีความเท่าทันในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญคือเราจะไม่ทิ้งเยาวชนและผู้สูงอายุ ผู้หญิงอยู่ในวงคุยก็จะคุยเรื่องใกล้ตัว เรื่องปากท้อง เรื่องการทำมาหากิน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนเรื่องป่า

เกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างการจัดการระดับชุมชน จังหวัด และระดับชาติ ยังมีสัดส่วนผู้หญิงน้อย ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมได้ ผู้หญิงต้องรวมตัวกัน สร้างพลังให้กัน และการก้าวออกจากความเชื่อเดิมต้องมีการพูดคุยกัน ให้พลังกัน การก้าวออกจากความเชื่อเดิมมีคุณค่า ทางอีสานก็มีข้อจำกัดน้อยลงแล้ว แต่ภาคเหนือและกลุ่มชาติพันธุ์การจะก้าวออกมานั้นใช้กำลังทุ่มเทมาก บางทีต้องอุ้มลูกมาประชุมด้วย ผู้หญิงด้วยกันจะเข้าใจกัน

ยกระดับเรื่องกลไกความร่วมมือสามภาคส่วน รัฐ ประชาสังคม ชุมชน เวลาคุยกันมักสะดุดที่ภาครัฐ อย่างเช่นข้อระเบียบ ข้อกฎหมาย จะทำอย่างไรให้ประเพณีสอดคล้องกับระเบียบกฎหมาย แม้ว่าชุมชนจะมีความพร้อมเรื่องการดูแลป่าไม้ที่ดิน ผู้หญิงก็กระตือรือร้นจะมาทำงานดูแลอนุรักษ์ป่า แต่กำลังเจ้าหน้าที่รัฐไม่พอ โครงสร้างบุคคลากร กฎหมายและระเบียบ และงบประมาณของรัฐไม่ปรับให้สอดคล้อง

pachumchon03

“เมื่อไรก็ตามที่เราบอกว่าเอาพะยูนไว้ ไม่เอาคน พะยูนก็จะเป็นศัตรูกับคน เป็นศัตรูกับชาวประมง”

ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์
ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน

เชิงแนวคิดคือชุมชนตั้งถิ่นฐานในทุกระบบนิเวศ เขาดูแลป่าอยู่แล้วในพื้นที่ของเขา คำว่าป่าชุมชนเพิ่งเริ่มในปี ๒๕๒๘ นักวิชาการไปค้นคว้ามาพบว่าชุมชนดูแลปกป้องป่ามาช้านาน หลายชุมชนปกป้องป่าจากการสัมปทานไม้ ปี ๒๕๓๙ เกิดร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่รัฐ ชาวบ้าน ประชาสังคม เห็นพ้องต้องกัน ร่างนั้นมีเพียง ๒๙ มาตรา หลักการคือชุมชนปกป้องป่ามายาวนาน ป่ามีฐานะเป็นหน่วยบริการทางนิเวศของชุมชน เพราะฉะนั้นชุมชนดูแลป่า ส่วนรัฐมีบทบาทเพียงกำกับติดตาม ด้วยแนวทางนี้ป่าชุมชนจัดอยู่ในป่าอนุรักษ์ประเภทหนึ่ง มันไม่ใช่ว่าเป็นป่าชุมชนแล้วชุมชนจะใช้ป่าอย่างล้างผลาญ

ป่าบกยกเลิกสัมปทานปี ๒๕๓๑ ป่าชายเลนยกเลิกสัมปทานปี ๒๕๓๙ ในช่วงปิดสัมปทานป่าชายเลนเรียกได้ว่าป่าชายเลนส่วนใหญ่เสื่อมโทรมเพราะผ่านการสัมปทานไม้ เหลือเฉพาะป่าบางแปลงที่ชุมชนปกป้องไว้ไม่ให้สัมปทานเข้า หลังจากนั้นการฟื้นฟูของป่าชายเลนถูกฟื้นฟูโดยชุมชนแล้วกรมป่าไม้ก็มาร่วมแต่กำลังหลักยังคงเป็นชาวบ้าน ด้วยป่าชายเลนปกป้องพายุ และให้บริการเชิงนิเวศหลายด้านจึงมีความสำคัญต่อชาวบ้าน

ก่อนหน้าที่จะแยกกรมทะเลออกจากกรมป่าไม้มี “ป่าชายเลนชุมชน” พอแยกกรมทะเลออกจากกรมป่าไม้ป่าชายเลนชุมชนก็ค่อยๆ หมดอายุโครงการ และค่อยๆ หมดไป คงเหลือต่ออายุโครงการภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ๑๑ แปลง เมื่อปลายปีที่แล้วท่านอธิบดีคนใหม่ [อรรถพล เจริญชันษา อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖) เป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช] ก็ได้คุยเรื่องนี้ กรมทะเลจึงออกเกณฑ์จัดตั้งป่าชายเลนสำหรับชุมชน ให้ชุมชนที่ประสงค์จะดูแลป่าชุมชนมาขึ้นทะเบียนกับ ท.ช. หรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อดูแลป่าชายเลน อันนี้จะกลับไปอยู่จุดเดิมก่อนจะมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน หมายความว่าอธิบดีอนุญาตให้เจ้าหน้าที่จัดทำโครงการป่าชายเลนชุมชน ไม่ได้อนุญาตชุมชนแต่เขาอนุญาตเจ้าหน้าที่ให้ไปทำป่าชายเลนชุมชน มีระยะเวลาโครงการ ๑๐ ปี

กลับไปที่หลักการอีกครั้ง คือถ้าเราอยากจะให้ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความร่วมมือกับคนในท้องถิ่น ยกตัวอย่างที่ตรัง ทุกฝ่ายร่วมมือกันดูแลพะยูนแต่เมื่อไรก็ตามที่เราบอกว่าเอาพะยูนไว้ ไม่เอาคน พะยูนก็จะเป็นศัตรูกับคน เป็นศัตรูกับชาวประมง เป็นศัตรูกับชุมชน แล้วคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น พะยูนจะได้รับอันตรายได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นอนุรักษ์พะยูนก็ต้องอนุรักษ์สิทธิชุมชน รัฐทำเองไม่ได้ต้องร่วมมือกัน คิดว่าหลักการของ พ.ร.บ.อุทยานฯ ก็ดี หลักการของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าก็ดี พ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ดี มันชี้นิ้วไปว่าคนคือศัตรูของธรรมชาติ อนุญาตให้ชุมชนจัดตั้งป่าชุมชนแต่หวาดระแวงอย่างมากว่าชุมชนจะทำให้ป่าเสียหาย ไม่อยู่บนหลักการความร่วมมืออนุรักษ์ ต้องเปลี่ยนกฎหมายต่างๆ ให้นำไปสู่ความร่วมมือ ความเห็นส่วนตัวคือเราประสบความสำเร็จมากภายใต้ความร่วมมือ แต่กฎหมายกลับกลายเป็นตัวขัดขวาง อย่างที่เรียกว่านางฟ้าหรือซาตาน ข้อเสนอคือกลับไปที่หลักการ ต้องทำให้นางฟ้าปรากฎตัว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติมีพื้นที่ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือหลายฝ่าย ทุกกรมมีหมด ให้เอาหลักการนี้มาเป็นข้อกฎหมาย เราจะช่วยกันขับเคลื่อนไปด้วยดีด้วยกัน

แนวทางในการยกระดับเรื่องป่าชุมชน สำหรับชุมชนที่ดูแลรักษาป่าได้ก็ควรให้ดูแลและสนับสนุน ถ้าเขาดูแลไม่ได้เราค่อยเพิกถอน ควรยึดถือหลักการดูแลเชิงนิเวศ แบบไม่ต้องเอาอำนาจการดูแลของราชการที่แบ่งเขตการทำงานมาเป็นตัวตั้ง ในเมื่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมมีระบบนิเวศถ้าไม่ร่วมมือกันจะจัดการอย่างไร ควรทำงานร่วมกันอย่างเป็นมิตร เอาเป้าหมายเป็นสำคัญ ต้องชัดเจนว่าต่อไปนี้ชุมชนคือผู้ดูแลป่า หน่วยงานคือผู้จัดการร่วม เมื่อชัดตรงนี้ กฎหมายอะไรที่เป็นอุปสรรคก็จะปรากฎ ก็แก้ไขปรับปรุงไป รับรองสิทธิชุมชนและให้รางวัลชุมชนเมื่อเขาดูแลดี พื้นที่ที่ไม่สามารถจัดการร่วมกันได้ ชุมชนไม่ดูแลเลย ก็ใช้วิธีการดั้งเดิมไป

pachumchon04

“การนำแนวคิดไปปฎิบัติมีข้อจำกัดและมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง”

เดโช ไชยทัพ
ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)

กฎหมายป่าชุมชนยุติความขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชน ทำให้ชุมชนเป็นผู้ทรงสิทธิในฐานะผู้ดูแลป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการนำหลักสิทธิชุมชนมาใช้และเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมามีแต่สิทธิบุคคลและสิทธิของรัฐ ดังนั้นสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิทธิตามจารีตที่ถูกยกระดับเป็นสิทธิชุมชนโดยกฎหมาย มีการระบุในกฎหมายป่าชุมชน เป็นคุณค่าเป็นสิทธิของสังคม ที่สร้างกลไกกำกับดูแลโดยรัฐ และติดตามตรวจสอบโดยหน่วยงานทางสังคม เกิดการคุ้มครองสิทธิ นำไปสู่ระบบการจัดการร่วม หรือ co-management มันไม่ใช่การจัดการโดยชาวบ้านโดยลำพัง แต่จะเป็นการจัดการร่วมที่มีหลายฝ่าย คือมีส่วนร่วมในการวางแผน มีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ ร่วมสนับสนุน ประเด็นนี้บัญญัติไว้อย่างดี อย่างไรก็ตามเมื่อนำหลักสิทธิจารีตมาบัญญัติในกฎหมายทำให้เกิดความยุ่งเหยิง เพราะกลายเป็นว่าสิทธิตามจารีตอันหลากหลายของแต่ละกลุ่มวัฒนธรรมจะถูกตีความเหมือนกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศในตัวบทของกฎหมายอนุบัญญัติ จุดนี้เองที่ทำให้มีความย้อนแย้ง ถ้ามีโอกาสต้องปรับปรุงโดยมีหลักคิดว่าจะเขียนอนุบัญญัติให้สอดคล้องกับบริบทความหลากหลายแต่ธำรงไว้ซึ่งการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ธำรงไว้เรื่องคุณภาพชีวิต การธำรงไว้เรื่องสิทธิต่างๆ เรื่องนี้เป็นโจทย์ที่ต้องปรับปรุง

เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าชุมชนเป็นป่าเขตร้อน คุณูประการของภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่ใกล้ชิดป่าทำให้สามารถนำองค์ความรู้มาต่อยอดเป็นวิทยาการที่ทันสมัย สามารถศึกษาวิจัยและยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการดูแลทรัพยากรอาหาร ทรัพยากรสมุนไพรของโลก แต่เรายังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้น้อยมาก นอกจากนี้ในตัวบทกฎหมายระบุถึงสิทธิในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทรัพยากรทางธรรมชาติที่สวยงามสามารถเป็นแหล่งรายได้ นี่คือความก้าวหน้าด้านหนึ่งของตัวบทกฎหมายป่าชุมชน รวมทั้งการจัดการคาร์บอนเครดิตที่สร้างผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์โลกร้อนไปด้วย ไม่ใช่ให้ชาวบ้านดูแลแต่ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย แต่การนำแนวคิดไปปฎิบัติมีข้อจำกัดและมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง ซึ่งต้องมาคุยกันให้ก้าวหน้ากว่านี้ ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่มาถูกเวลาแล้วและเราควรจะมีคณะกรรมการสะสางสิ่งที่เป็นข้อจำกัดและในขณะเดียวกันอยากให้มีกลไกขับเคลื่อนชัดเจนและหลากหลาย

เครื่องมือยกระดับงานป่าชุมชน มีสองประเด็น เป็นเรื่องความร่วมมือ ต้องออกแบบกันใหม่ให้ครบทั้งขาขึ้น-ข้อเสนอทางนโยบาย ยกตัวอย่างสมัชชาสุขภาพ มีกลไกคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพเป็นกลไกกลั่นกรองเรื่องก่อนจะไปถึงที่ปรึกษานายกฯ และขาเคลื่อน-ปฏิบัติการ ยกตัวอย่างการจัดการเชิงพื้นที่ให้ชุมชนเป็นคนทำ แต่พอทำแล้วกลับมีการพลิกโผ เพราะความคิดของระดับบนไม่สอดคล้องกับระดับพื้นที่

pachumchon05

“ต้องเคียงบ่าเคียงไหล่กับหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่กำกับจากบนลงล่าง”

ภานุเดช เกิดมะลิ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

มิติการขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยจะมองกันคนละส่วนหรือคนละมิติ ชาวบ้านในพื้นที่เรียนรู้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เรียนรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง เป็นวิถีการเรียนรู้ที่นำไปสู่การจัดการในเชิงจารีต มีองค์ประกอบความเชื่อ มิติวัฒนธรรม และความผูกพันกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทั่วไปหรือคนนอกชุมชนไม่ได้เรียนรู้ร่วมกันมากับเขา

ในขณะที่ประเทศไทยใช้กฎหมายเป็นตัวตั้งในการบริหารจัดการ องค์กรที่เกี่ยวข้องคือข้าราชการที่จะใช้กฎหมายนี้มาดำเนินการจัดการทรัพยากร ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสองส่วนนี้ไม่ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงให้นำมาใช้เป็นเครื่องมือจัดการทรัพยากรร่วมกันได้ เราจึงเห็นความขัดแย้งมาโดยตลอด ไม่มีใครผิดแต่เป็นเรื่องของการมองคนละมิติในการทำงาน

โครงการจอมป่าเป็นโมเดลแรก ๆ ของการเรียนรู้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ร่วมกัน การจัดการเชิงพื้นที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะเวลาเรามองเรื่องการจัดการพื้นที่ มันไม่สามารถมองมิติใดมิติหนึ่งได้ ทั้งในเรื่องของตัวพื้นที่เองหรือว่าเรื่องกฎหมาย แต่ใช้หลักการองค์รวม หลักการภูมินิเวศ ในการบริหารจัดการ เป็นมิติที่รัฐบาลไม่เคยมอง ด้วยเหตุนี้ประชาชนเป็นได้เพียงคณะกรรมการที่ปรึกษาแทนที่จะเป็นคณะกรรมการดำเนินงานจัดการพื้นที่ การจัดการมันต้องเคียงบ่าเคียงไหล่กับหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่กำกับจากบนลงล่าง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องสู้กันต่อในระดับนโยบาย

อีกประเด็นคือเวลามองพื้นที่อุทยานฯ หรือเขตรักษาพันธุ์ด้วยมุมมองว่าเป็นพื้นที่แกนกลางหรือไข่แดง เราใช้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.อุทยานฯ แต่ด้วยหลักการของกฎหมายดังกล่าวไม่สามารถเชื่อมโยงกับไข่ขาวที่อยู่โดยรอบ ไข่ขาวหลักๆ คือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแต่กลับได้รับการดูแลหรือส่งเสริมน้อยมาก ต้องปรับในเชิงนโยบายให้หันมามองเชื่อมโยงในลักษณะภูมินิเวศ สัตว์ป่าไม่ได้อยู่เฉพาะในพื้นที่ไข่แดง แต่เริ่มกระจายมาอยู่ในพื้นที่ไข่ขาว ทรัพยากรบางส่วนในพื้นที่ไข่แดงมนุษย์ก็นำมาใช้บ้างเหมือนกัน จึงต้องมีวิธีวางแผนในการบริหารจัดการ แต่ว่าก็ต้องช่วยราชการด้วยโดยให้มีกฎหมายที่เอื้อต่อการทำงานองค์รวมให้ได้ สิ่งที่สำคัญคือเราไม่ให้ความสำคัญกับตัวกฎหมายลำดับรองๆ ยังไม่ออก แต่เตรียมไว้แล้ว ไม่สอดคล้องกับกฎหมายแม่และวิถีความเป็นอยู่ เกิดการดึงกันไปดึงกันมา มูลนิธิสืบฯ ก็อยากจะฝากถึงรัฐบาลเหมือนกันว่าต้องรีบหาวิธีการจัดการ เพราะระหว่างที่กฎหมายยังไม่ชัดเจน ยังประกาศใช้ไม่ได้ ป่าก็ถูกบุกรุกไปเรื่อยๆ ประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นมีความหลากหลาย ส่วนหนึ่งที่กฎหมายยังไม่ออกมาก็เพราะความไม่ชัดเจนของกรมอุทยานฯ เอง และการไม่แลกเปลี่ยนพูดคุยกันเพื่อหาทางออกที่จะเกิดความสมดุลในการจัดการเชิงพื้นที่ที่ว่านี้ พื้นที่มาตรา ๖๔, มาตรา ๑๒๑ ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒ ผมมองว่าทุกคนมีจุดหมายเดียวกันแต่มีมุมมองต่างกัน

สถานการณ์ปัจจุบันอยู่ระหว่างเข้าสู่การผ่านงบประมาณปี ๒๕๖๗ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแลดล้อมเป็นกระทรวงตกขอบ แสดงให้เห็นถึงการไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากร ทำให้งบประมาณที่ได้มาอาจจะไม่เพียงพอ ประเด็นคือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถปรับมุมมองทรัพยากรที่ไม่ต่างไปจากความมั่นคงของประเทศ ทรัพยากรที่หลากหลายสามารถเป็นฐานของชีวิตให้คนไทยสู้กับวิกฤตต่างๆ แต่เรากลับไม่ใช้สิ่งนี้มาวางแผน จัดการ หน่วยงานราชการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติยังไม่ได้แสดงบทบาทนำในเรื่องนี้ การพิจารณางบประมาณเรื่องนี้อาจไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูด หรืออาจจะถูกตัดทิ้ง เพราะรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจหลากหลายทาง

เสนอให้สร้างงานสิ่งแวดล้อมให้เป็นประเด็นเชิงบวกต่อความมั่นคงของประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เราอาจจะมีงบประมาณทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม และจะได้คลี่คลายปมในการทำงานที่มักติดเรื่องงบประมาณเสมอ เรายังไม่มีนโยบายชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อมที่นำลงสู่ปฏิบัติ ทำแล้วสะดุดเยอะ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่ๆ ที่เข้ามาแล้วสวนทางกับนโยบายสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่สามคือเรื่องป่าชุมชน ต้องมองศักดิ์ศรีของ พ.ร.บ.ป่าชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ กรมป่าไม้ต้องพลิกกลับมาให้เห็นความสำคัญและปรับโครงสร้างงบประมาณ โครงสร้างบุคคลากร ไปพร้อมกัน เราสามารถสร้างหน่วยงานในพื้นที่ให้เป็นหน่วยประสานงานในพื้นที่ เรื่องที่สี่คือเรื่องตัวกฎหมาย และกฎหมายลำดับรอง ต้องแก้ไขปรับปรุงให้เป็นธรรมกับคนและธรรมชาติ สุดท้ายเราต้องพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพพอที่จะเป็นคลังข้อมูลให้ระดับนโยบายหรือรัฐบาลจะหยิบไปใช้ประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการลงถนนเท่านั้น แต่ละพื้นที่มีโมเดลในการจัดการ ขาดแต่เรื่องงบประมาณและการสนับสนุน

pachumchon06

“จะยกระดับการขับเคลื่อน คทช. ช่วงเวลาดำเนินงานแต่ละขั้นตอนต้องชัดเจน”

อธิวัฒน์ สุธรรม
รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน

ตัวแทนชุมชนในพื้นที่ป่าสงวน ภายใต้เงื่อนไขของ คทช. อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน การจัดการที่ดินในรูปแบบ คทช.ได้มีการพูดคุยมาอย่างยาวนาน สู้กันมานาน คนทับป่า ป่าทับคน ตั้งแต่การต่อสู้เรื่องป่าไม้ที่ดินในนามสมัชชาคนจน สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ ออกมา ต้องทำการพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกิน ด้วยเหตุผลหลายอย่าง อาจจะเป็นความไม่ชัดเจนด้วย จึงทำได้ไม่มาก หลังจากนั้นก็มีแนวทางโฉนดชุมชนซึ่งเป็นข้อเสนอของชาวบ้านที่พยายามจะแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิบนที่ดินในรูปแบบแปลงรวม ต่อมาเป็นการจัดการที่ดินในรูปแบบ คทช. ซึ่งนับว่าเป็นการจัดการรูปแบบใหม่ มีความหลากหลายสูงมาก ก่อนที่ พ.ร.บ.คทช.จะออกมาเป็นรถไฟ ๕ ขบวน ส่วนใหญ่จะอยู่ในขบวนป่าสงวนซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม ตัวอย่างที่สันติสุขการจัดการที่ดิน คทช.มีความหลากหลาย มีคำอธิบายมาก ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าภาพที่จะประสานงานให้เกิดการทำงานแบบองค์รวม ทำให้ดำเนินการล่าช้า พื้นที่ คทช. ๑๒ ล้านกว่าไร่ เพิ่งทำเอกสารรับรองสิทธิเสร็จไป ๖ แสนกว่าไร่ หรือ ๕ เปอร์เซ็นต์ ถ้าทำงานในอัตราเร่งเท่าเดิมจะใช้เวลา ๑๖๐ ปี สิ่งที่ท้าทายคือความเข้าใจในการจัดการที่ดินแบบ คทช. และเกณฑ์การจัดการพื้นที่บนเงื่อนไขของกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยเรื่องชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ระยะเวลาการถือครอง ขอบเขตการปกครอง ทำให้เกิดข้อจำกัดหยุมหยิมมากมายกลายเป็นข้อจำกัด

การจัดการที่ดินรูปแบบ คทช.ท้าทายชุมชนเพราะคนจัดการต้องชัดเจนว่าตัวเองอยู่ตรงไหน และมีสิทธิจะได้ประโยชน์จากการจัดการที่ดินแบบ คทช.ในรูปแบบใด ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การปกครองท้องที่ ต้องร่วมกันทำงาน และหน่วยงานรัฐ เช่น ป่าไม้ สคทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จะต้องมีความชัดเจนในบทบาทการเข้าร่วมให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ข้อเสนอถึงรัฐบาลคือ ขอให้ลดกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ที่หยุมหยิม ให้คงไว้เฉพาะเรื่องเวลาก็พอ ข้อสองคือ เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานภาครัฐทำ MOU กับท้องถิ่น ให้ทางกรมสั่งการลงไปให้ทำเรื่องนี้ ข้อสามคือเรื่องงบประมาณสนับสนุน

จะยกระดับการขับเคลื่อน คทช. ช่วงเวลาดำเนินงานแต่ละขั้นตอนต้องชัดเจน วิธีการประสานความร่วมมือต้องทำได้จริง