เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

เปิดโทรศัพท์มือถือกดแอปพลิเคชัน TikTok พิมพ์ชื่อ สยาโม

หน้าฟีดเด้งขึ้นมาเป็นวิดีโอของสาวตัวเล็ก ดัดผมลอน โลดแล่นเฉิดฉายบนหน้าจอโทรศัพท์สี่เหลี่ยมของเรา การแต่งกายของเธอคล้ายคนรุ่นแม่ แต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางของคนรุ่นยาย ดำเนินชีวิตด้วยสไตล์วินเทจ

ใครไม่เคยเห็นคงคิดว่าหญิงหลงยุคมาแน่

แต่ที่ไหนได้เธอเป็นสาวน้อยเจเนอเรชัน Z ผู้เกิดหลังปี 2540 เรียกตัวเองเป็นตัวแม่ไอคอนย้อนยุค และเป็นผู้สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนต่างยุค เสมือนเป็นทูตของเจเนอเรชันในชื่อ สยาโม

บทสนทนาของคนต่างวัย อดีตและอนาคตที่ไม่มีวันสิ้นสุดของ สยาโม

แตงโม สยาภา สยาโม

“แตงโม” – สยาภา สิงห์ชู หญิงสาว ตัวเล็ก ผมดัดลอนเกลียว หน้าตาจิ้มลิ้ม วัย 23 ปี แตงโมมีชื่อเสียงจากการทำคอนเทนต์ลงในช่อง TikTok จนช่องของสยาโมมียอดผู้ติดตามกว่าล้านคน ไม่ว่าเด็กเล็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ ต่างรู้จักเธอ

ก่อนหน้านี้สยาโมเคยปรากฏตัวผ่านรายการแข่งขันร้องเพลง The Voice Kids และ The Voice ประเทศไทย ตามความฝันที่อยากไปยืนโดดเด่นเฉิดฉายบนหน้าจอโทรทัศน์ ในชื่อแตงโม

“ตอนท้องแม่ชอบกินแตงโม กินแทนข้าวเลย ไม่รู้จะให้ชื่ออะไร เลยให้ชื่อแตงโม” พิมพา งามขำ หญิงผมลอนเจเนอเรชั่น X วัย 53 ปี แม่ของสยาโมบอก

ส่วนชื่อ สยาโม มีที่มาจากชื่อจริงคือ สยาภา รวมกับคำหลังของชื่อเล่นคือ แตงโม รวมกันเป็นสยาโม บ้างออกเสียงว่าสะหยาโม

“ชื่อ สยาโม เราตั้งใจให้มันมีนัยยะ คือ สยาม โมเดิร์น” สยาโมเล่า

คือความเป็นไทยประยุกต์กับไลฟ์สไตล์วินเทจ

ดัดผมลอน รื้อเสื้อผ้าแม่มาใส่ แต่งหน้ายุคคุณยาย แต่งกาย Y2K ใส่ชุดแม่ผึ้ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ร้องเพลงลูกทุ่ง ร้องลูกกรุงสุนทราภรณ์ พร้อมกับเปิดเพลงไทยในอดีต เคล้าคลอไปในแต่ละคลิปชวนให้นึกถึงอดีตทั้งภาพและเสียง

syamo04

คอนเทนต์สร้างบทสนทนาของคนสองวัย

“แม่ ๆ แม่ไปดัดผมที่ไหนมา” บทสนทนาแรกที่สยาโมถามยังคงอยู่ในความทรงจำของพิมพา

“เนี่ย บ้านเรา ใคร ๆ ก็ดัดได้ ทำไมเหรอลูก”

“หนูอยากได้แบบนี้บ้าง เอาให้หยิก ๆ แบบนี้เลยนะ”

พิมพาเล่าบทสนทนาเรื่องการดัดผมลอนย้อนยุคที่ได้เริ่มเชื่อมเรื่องราวของสยาโมกับแม่เข้าหากัน

“ทีแรกลูกถามเราหลายครั้ง เราก็บอกว่าอย่าไปทำเลย ทำแล้วมันแก่นะ แล้วมันก็ทรงโบราณ เด็กยุคนี้ไม่มีใครเขาทำกัน”

สยาโมไม่เชื่อตามคำเตือนของแม่ เธอใช้ความมั่นใจของตัวเองในตอนวัย 20 ปี แอบแม่เดินเข้าไปดัดผมยังร้านเสริมสวยแถวสวนหลวง ร.9 โดยมีคุณป้ารุ่นราวคราวเดียวกับแม่เป็นเจ้าของร้าน

“คุณป้าคะ หนูขอดัดผมแบบยุคคุณป้าเลยค่ะ” บทสนทนาที่ 2 ระหว่างเด็กเจเนเรชัน Z กับคุณป้าร้านเสริมสวยเริ่มขึ้น

ขณะที่ในมือของสยาโม ถือโทรศัพท์ถ่ายวิดีโอหน้ากระจกตอนตัวเองกำลังดัดผม คุณป้านำแกนดัดผมที่เรียกว่าลอนโปเต้ม้วนจนเต็มหัว พร้อมราดน้ำยากลิ่นฉุน เธอยังจำกลิ่นนั้นได้

การดัดผมเสร็จสิ้น เกิดเป็นผมลอนเล็กหยิกชัดถูกใจและแปลกตาเด็กเจเนเรชันเรา สยาโมอัปคลิปลงในติ๊กต๊อก

ใครจะเชื่อผู้ชม 3 ล้านคนผ่านเข้ามาชมคอนเทนต์นี้ จนพลิกชีวิตแตงโม เด็กธรรมดาให้เป็นที่รู้จักกับผู้คนในทุกช่วงอายุ

“ต้องขอบคุณ คุณป้าคนนั้นเลย กำเนิดคำว่าสยาโมเลย เพราะก่อนหน้านี้ คือเด็กผู้หญิงทั่ว ๆ ไปที่มีความใคร่และชอบในเสื้อผ้าวินเทจอย่างเดียว แต่ว่าลุคภายนอกยังไม่ได้ แต่ตั้งแต่เราตัดสินใจดัดผม ทุกอย่างคือเหมือนใช่ ๆ ๆ วันแรกสามล้านวิว”

ตั้งแต่นั้นมาสยาโมจึงรู้ว่าคนส่วนใหญ่ชอบคอนเทนต์แนวนี้ เธอจึงพยายามคงคาแรกเตอร์ของตัวเองเอาไว้ แล้วคิดคอนเทนต์เกี่ยวกับอดีตขึ้นมามากมาย

คนรุ่นราวคราวเดียวกับสยาโม ทั้งเด็กเจเนอเรชัน Z วัยรุ่นเจเนอเรชัน Y สนใจคอนเทนต์เหล่านี้ ต่างจากตอนแรกที่สยาโมตั้งใจ

“ตอนแรกตั้งใจจะทำคอนเทนต์เพื่อคุณพ่อ คุณแม่ เพื่อให้ทุกคนหวนรำลึกถึงตอนที่ตัวเองยังเป็นสาวเป็นหนุ่ม แต่ว่าพอสุดท้ายกลายเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา เด็กประถมทั้งนั้นเลยที่รู้สึกว้าวกับคอนเทนต์เรา”

คิดถึงอดีต โหยหาอดีตที่อยู่ในความทรงจำ หรือ nostalgia คงเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้คนยุคปัจจุบัน บางคนอยากรู้ว่าอดีตเป็นอย่างไร หลายคนคิดถึงสิ่งที่ตัวเองพบเจอในอดีต เพราะเป็นช่วงเวลาที่กำหนดความสุขได้ ต่างจากอนาคตที่ไร้จุดหมายปลายทาง

syamo05

เรื่องราวของอดีต ผ่านบทสนทนาจากผู้คนใกล้ตัว

เรื่องราวของอดีตไม่ง่าย เพราะแต่ละคนมีชุดความทรงจำที่ต่างกัน

“เพราะฉะนั้นเราก็จำเป็นจะต้องมีความรู้เรื่องอดีตไปบอกต่อคนที่เขาไม่รู้ได้ด้วย” สยาโมกล่าว

คอนเทนต์อดีต ใครจะรู้ดีเท่าผู้คนที่เกิดร่วมยุค สยาโมจึงต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนบทสนทนากับผู้คนต่างวัยเพื่อสอบถามความทรงจำ

พิมพา คือ หนึ่งในครูผู้สอนวิชาอดีตให้กับตัวเธอ เกิดขึ้นเป็นคอนเทนต์ “รื้อเสื้อผ้าแม่สมัยเป็นสาว” สร้างไวรัลให้กับเธออีกครั้ง พร้อมกับบทสนทนาเรื่องใหม่ระหว่างสยาโมกับแม่

“แม่ แม่มีเสื้อผ้าเก่า ๆ บ้างมั้ย ตั้งแต่สมัยยุคก่อน ๆ”

“ก็มีอยู่”

“ไหนแม่ หนูอยากเห็น”

พิมพาบอกเล่าบทสนทนาและเรื่องราวของลูกสาวตัวน้อยถึงจุดเริ่มต้นของคอนเทนต์นี้ให้ฟัง

“ลูกไปดูตามลัง ซึ่งในลังที่เราเก็บไว้ ก็จะมีตั้งแต่ผ้าอ้อม ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ทารก เสื้อผ้า ยูนิฟอร์ม ชุดทำงานอะไรต่ออะไรของเรา แม่หนูอยากรื้อลังนี้ ลูกก็รื้อลังนั้นออกมา ก็มาเปิดกรุกันวันนั้น”

ส่วนสยาโมตั้งกล้องโทรศัพท์ในสภาพที่เพิ่งตื่นนอน ถ่ายวิดีโอขณะเปิดลังกระดาษที่ภายในมีถุงดำเก็บเสื้อผ้าของแม่อายุกว่า 30 ปีสภาพดีไว้หลายชุด ทั้งชุดสีน้ำเงิน ชุดสีชมพู เสื้อสีขาวแต่งแต้มสีสันไว้มากมาย ทั้งหมดล้วนเป็นเสื้อผ้าและชุดแสนธรรมดาสามัญ หากแต่ความพิเศษอยู่ที่เสื้อผ้าเหล่านี้พิมพาเป็นผู้ออกแบบเอง ในตอนที่เธออายุ 19 ปี

“พอตอนรู้เรื่องราวว่าแม่ออกแบบเอง มันพิเศษตรงนี้ อยากที่จะรู้เทสแม่ สมัยนั้นแม่มีเทสหรือเปล่า หรือแม่เฉิ่ม ๆ ธรรมดา แต่พอดู เสื้อผ้าดูมีเลเยอร์ แม่บอกว่า กระดุมต้องไปหาซื้อเอง ต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เสื้อก็ต้องไม่เป็นชั้นเดียว ต้องมีเลเยอร์ เลยรู้ว่าแม่เราก็เป็นคนมีเทสพอสมควร” สยาโมกล่าว

เสื้อผ้าแสนธรรมดาของแม่ “กลายมาเป็นเสื้อผ้าที่พลิกชีวิต” เป็นอีกหนึ่งคุณค่าที่สยาโมนึกถึง

จากเรื่องเสื้อผ้า สู่บทสนทนาต่อไป ผ่านคอนเทนต์ “การแต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางรุ่นคุณยาย”

“จริง ๆ คุณแม่ไม่ได้เป็นคนแต่งหน้า แต่จะเป็นคุณยาย จึงใช้การค้นหาผ่านการถามคุณแม่ต่อว่า หนูอยากจะรู้ว่า ยายใช้เครื่องสำอางอะไรบ้างในตอนนั้น แม่ก็จะแนะนำ” เจ้าแม่คอนเทนต์ขยายความ

ความทรงจำเรื่องคุณยายในอดีตของแม่ได้ส่งต่อมายังเจเนอเรชันหลาน

เรื่องราวในอดีตกลายเป็นบทสนทนาระหว่างรุ่นต่อรุ่น จากยายสู่แม่ จากแม่สู่ลูก

และจากลูกสู่ผู้คนอีกหลายรุ่นที่ติดตามช่องสยาโม เชื่อมเรื่องราวระหว่างเจเนอเรชันหนึ่งสู่อีกเจเนเรชัน

บทสนทนาไม่สุดสิ้นหากอดีตไม่สิ้นสุด

“เวลาไปข้างหน้าเรื่อยๆ ก็มีอดีตเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราคิดว่าการเล่าอดีตก็เล่นกับเวลาไปได้เรื่อย ๆ”สยาโมพูดถึงคอนเทนต์ของเธอที่ไม่มีวันสิ้นสุด

เช่นเดียวกับบทสนทนาของคนต่างวัยที่ไม่มีวันสุดสิ้น บทสนทนาระหว่างคนในครอบครัวคงถือกำเนิดขึ้นไปอีกแปดบ้านสิบบ้าน เชื่อมสัมพันธ์คนต่างเจเนอเรชันให้เข้าหากันยิ่งขึ้น

“เราสามารถมีกิจกรรมร่วมกัน อย่าให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย เราสามารถดึงเด็กสมัยนี้กับคนรุ่นเราเข้ามาใกล้กันมากยิ่งขึ้น แล้วความอบอุ่น และความรักใคร่ก็จะมีมากขึ้น จากที่ลูกไม่เคยพูด ไม่เคยสนทนาอะไรกับเรา พอมีกิจกรรมตรงนี้เข้ามา กลายเป็นว่าความสัมพันธ์ก็ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น มีอะไรก็จะพูดจะคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เกิดเป็นความผูกพันอีกแบบ

“จากเมื่อก่อนเราอยู่แบบเหงา ๆ แต่พอลูกๆ หลานๆ เข้ามาใกล้เรามากขึ้น เราก็หายเหงา ลูกมีอะไรก็จะเข้ามาปรึกษาเข้ามาถาม เป็นความผูกพันที่จะเกิดขึ้นเอง โดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปร้องขอ”

พิมพา ผู้มีประสบการณ์เล่าเรื่องราวทิ้งท้าย ราวกับจะบอกว่าถึงแม้อดีตไม่อาจย้อนคืน แต่เราสามารถนำอดีตมาเป็นอนาคตที่ดีได้ ไม่ว่าจะเป็นอดีตของเราหรืออดีตของคนรอบตัว

เพียงแค่เริ่มบทสนทนา คนต่างเจเนอเรชัน คงใกล้กันมากขึ้น

มนุษย์ต่างวัย #มนุษย์ต่างวัยTalk2023 #OutOfTheBoxAging #สังคมสูงวัย #sarakadeemagazine #สสส #วัยนี้วัยดี #ชีวิตดีดีสร้างได้ทุกวัย #manoottangwai #มนุษย์ต่างวัย #มนุษย์ต่างวัยTalk2023 #OutOfTheBoxAging #สังคมสูงวัย