๏ นักพรตพักตร์เพศม้า มีแผน พม่านา ชื่ออัศวมุขีแขน คู่คู้ ท่าอัดดัดเหลี่ยมแบน แบะเข่า คอเคล็ดแคลงไหล่หลู้ โฉลกแก้ตลอดกันฯ
พระองค์เจ้าทินกร
(ถอดความ) นักพรตผู้มีหน้าเป็นม้านี้ เป็นฤๅษีจากพม่า ท่านมีนามว่าอัศวมุขีทำท่างอ (คู้) แขน ยืนย่อขาแบะเข่า แก้คอเคล็ด ไหล่ขัดได้
ฤๅษีอัศวมุขี (แปลตรงตัวว่า “หน้าม้า”) ตนนี้ “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ระบุว่าเป็นฤๅษีพม่า
นาม “อัศวมุขี” มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “จักรทีปนี คัมภีร์โหราศาสตร์” พระนิพนธ์ พระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนหนึ่งว่า “ลักขณาอยู่มังกร นางนาฏบวร ชื่ออัศวมุขี สังวาศด้วยพราหมณ์ ชื่นชมยินดี ชาตาดังนี้ มีผัวสองคน”
ที่มาของเรื่องนางอัศวมุขีผู้สังวาสด้วยพราหมณ์คงมาจากชาดกเรื่อง “ปทกุสลมาณวชาดก” ที่กล่าวถึงยักษิณี (นางยักษ์) คนหนึ่ง มีหน้าเป็นม้า ได้รับโควตาจากท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ อนุญาตให้จับผู้ที่บุกรุกเข้ามาในอาณาเขตป่าของนาง กว้าง ๕ โยชน์ ยาว ๓๐ โยชน์ กินได้ อยู่มาวันหนึ่ง มีพราหมณ์หนุ่มรูปงามเดินทางผ่านมา นางเห็นเข้าเกิดหลงรัก เลยเปลี่ยนใจไม่จับกิน แต่กลับจับตัวไว้ทำอย่างอื่น จนเกิดบุตรชายด้วยกันคนหนึ่ง คือพระโพธิสัตว์
นางยักษ์หน้าม้าเลี้ยงลูกผัวเอาไว้ในถ้ำ เวลาจะออกไปหาอาหารก็เอาก้อนหินปิดปากถ้ำไว้ ทว่าพระโพธิสัตว์มีกำลังมาก ผลักหินเปิดถ้ำออกมาได้ จึงแอบพาพราหมณ์ผู้เป็นบิดาหนีออกนอกพื้นที่ป่าของมารดา จนสุดท้ายนางยักษ์ตามมาทันตรงชายป่า เมื่อแน่ใจว่าลูกผัวจะไม่หันหลังกลับไป นางอัศวมุขีจึงสอนมนต์จินดามณี ที่ใช้ติดตามรอยเท้าของใครก็ได้ แม้เวลาจะล่วงเลยไปถึง ๑๒ ปีแล้ว ให้แก่พระโพธิสัตว์ แล้วนางก็กระทำกาลกิริยา หัวใจแตกสลายตายอยู่ตรงนั้นเอง
ชาดกเรื่องนี้ยังมีเนื้อหากล่าวถึงการผจญภัยของพระโพธิสัตว์ต่อไปอีกยืดยาว ทว่าเหตุการณ์ในตอนต้นนี้เองคงเป็นเค้าโครงที่มหากวีสุนทรภู่หยิบไปสวมในเรื่อง “พระอภัยมณี” โดยเปลี่ยนจากนางยักษ์หน้าม้าเป็นนางผีเสื้อสมุทรแทน และเข้าใจกันว่า บางที ชื่อนางยักษิณีจากชาดกเรื่องนี้เองคงเป็นที่มาของคำประนามหยามเหยียดในภาษาไทยว่า “นางยักษ์ขมูขี!”
แต่ชาดกเรื่องนี้ก็มิได้กล่าวถึงฤๅษีผู้มีนามว่า “อัศวมุขี” แต่ประการใด
ส่วนใน “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” มีกล่าวถึงฤๅษีหน้าม้า ทว่ามิได้มีนามว่า “อัศวมุขี” อีก หากแต่กลับมีชื่อว่า “สัชนาไลย” เรื่องกล่าวว่าแต่เดิม พระฤๅษีตนนี้มิได้มีหัวเป็นม้า หากแต่พระนารายณ์ตัดเอาหัวของอสูรรูปม้า ชื่อกัณฐะกะ มาต่อชดเชยให้แทนศีรษะเดิมของท่านที่ถูกอสูรกัดกินไป
ดาบสหัวม้ารูปนี้ยังได้รับวิชาปราบม้าพยศจนเป็นที่นับถือในฐานะ “ครูม้า” มีนามว่า “อิสีกัลไลยะกะ” ซึ่งมีรูปวาดพร้อมนาม “อิศริกะไลยกะครูม้า” ปรากฏอยู่ใน “ตำราภาพเทวรูป เลขที่ ๓๒”
สรุปคือจนถึงบัดนี้ก็ยังค้นไม่พบว่า อัศวมุขี ฤๅษีพม่าที่มีหัวเป็นม้า มีที่มาจากวรรณคดีหรือตำราเล่มใด
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ