iseesingh00
๏ อิสีสิงค์ดาบสหน้า    เป็นมนุษย์
เขางอกแย่เศียรดุจ ดั่งเนื้อ
ยืนดัดหัดถ์สองยุด กันกด เอวนา
คอไหล่ไข้รังเรื้อ โรคร้ายรึงถอยฯ

จมื่นราชนาคา

(ถอดความ)อิสีสิงค์ดาบส มีใบหน้าอย่างมนุษย์ แต่บนศีรษะมีเขางอกขึ้นมาเหมือนเขากวาง ท่านทำท่ายืน มือประสานกันด้านหลัง กดที่เอว เพื่อรักษาโรคที่คอและไหล่ให้หายสูญ

ภาพวาดนี้แปลกกว่ารูปอื่นๆ ตรงที่แสดงภาพฤๅษีหันหลัง บางทีอาจเพื่อให้แลเห็น “เขางอก” บนศีรษะดังที่โคลงว่าไว้

ฤๅษีที่มีนามว่า “อิสีสิงค์” หรือชื่อทำนองเดียวกันนี้ มีทั้ง “อิสิสิงคดาบส” ซึ่งกล่าวถึงไปแล้ว กับยังมีที่เป็นบิดาของฤๅษีกไลโกฏในบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ด้วย

แต่หากพิจารณาเฉพาะโคลงบทที่ยกมาข้างต้น ดูเหมือนมีความคลาดเคลื่อนหรือสับสนบางประการ เพราะตามเรื่องใน “รามเกียรติ์” อิสีสิงค์มิใช่ฤๅษีผู้มีรูปกายเป็นมนุษย์ และมีหน้าเป็นกวาง (หรือมีเขากวางงอกบนศีรษะ) ทว่าผู้ที่มีลักษณะดังกล่าว คือฤๅษีกไลโกฏ ซึ่งเป็น “ลูกครึ่ง” ซึ่งเกิดจากพ่อที่เป็นมนุษย์ คือฤๅษีอิสีสิงฆ์ กับแม่ที่เป็น “เนื้อ” คือกวาง

ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “อิสี” และ “ดาบส” มีหมายความว่าฤๅษีอยู่แล้ว นาม “ฤๅษีอิสีสิงค์” หรือ “อิสีสิงคดาบส” จึงเป็นการซ้อนคำซ้อนความเปล่าๆ และโดยเหตุนั้นนามอันแท้จริงของท่านย่อมเป็น “สิงค์” หรือ “สิงคะ” เฉยๆ

อย่างไรก็ดี คนไทยคงมีความสับสนระหว่างฤๅษีสิงค์กับฤๅษีกไลโกฏมาแต่โบราณแล้ว

ในบทความ “ตำราเทวรูปพราหมณ์ คนวาดรูปในตำรา เคยดูอะไรมา…?” (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๗) ไมเคิล ไรท์ (Michael Wright 1940 – 2009) นักเขียนประจำของ “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้ใฝ่ใจในเรื่องอินเดียใต้ เคยชี้ประเด็นว่าในตำราเทวรูปพราหมณ์ในหอสมุดแห่งชาติฉบับหนึ่ง วาดภาพฤๅษีสองตนเคียงกัน คือ “พระฤๅษีไกลยโกษฐ์” และ “พระฤๅษีสิงหดาวบท”

คุณไมค์ตั้งข้อสังเกตว่านามอันแท้จริงของฤๅษีทั้งสอง ควรเป็น “กะไลโกฏฺฎุ” กับ “สฤงฺคะดาปส” ซึ่งชื่อแรกเป็นภาษาทมิฬ ส่วนชื่อหลังเป็นคำสันสกฤต แต่ทั้งสองคำมีความหมายอย่างเดียวกันคือ “เขากวาง” เขาจึงสรุปว่า “แสดงว่าฤๅษีสองตนนี้คือตนเดียวกัน แต่ตนแรกมาจากรามายณะพื้นเมืองทมิฬ, ตนที่สองมาจากรามายณะของวาลมีกิ หรือแหล่งอื่นที่เป็นภาษาสันสกฤต”

นั่นคือในความเห็นของไมเคิล ไรท์ ทั้งฤๅษีกไลโกฏและฤๅษีอิสีสิงค์ คือฤๅษีตนเดียวกัน เพียงแต่เรียกชื่อต่างออกไป

ในยุครัชกาลที่ ๓ เมื่อมีการแต่งโคลงฤๅษีดัดตนนี้ ท่านอิสีสิงค์น่าจะเป็นที่นับถือกันเป็นพิเศษด้วย จึงไปมีนามนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือ “เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ซึ่งคงแต่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันในแผ่นดินพระนั่งเกล้าฯ ว่ามีสร้างเป็น “พระเทวะรูป” ด้วย คือ

“พระเทวะรูปซึ่งพราหมณ์ทั้งหลายนับถือนั้นคือพระปรเมศวร พระพิฆเนศวร พระวิศณุจักร พระอุมาภควดี พระลักษมี พระมเหศวรี พระเทวะกรรม พระสัทธาสิทธิ์ พระอิษีสิงค์ พระไพศพ พระพลเทพย์”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ