๏ โยคีอะแหม่แม้น     แขกพราหมณ์ พรตแฮ
มือสิบเอ็ดนิ้วสลาม     ศิวะไท้
แก้ลมอัณฑวาตตาม     ลำแล่น เสียวนา
คู้เข่าเท้าสองไขว้     หัตถ์เคล้นไคลคอฯ
อะแหม่เป็นโยคีแขกพราหมณ์ ท่านมีนิ้วมือ ๑๑ นิ้ว แสดงสักการะ (สลาม) แก่พระศิวะ ในการรักษาลมอัณฑวาต (ลมในอัณฑะ ?) ที่แล่นมาตามลำคอ ให้นั่งงอเข่าทั้งสองข้าง ไขว้ข้อเท้า ใช้มือนวดเฟ้นตามลำคอ

พระองค์เจ้าศิริวงศ์

(ถอดความ)อะแหม่เป็นโยคีแขกพราหมณ์ ท่านมีนิ้วมือ ๑๑ นิ้ว แสดงสักการะ (สลาม) แก่พระศิวะ ในการรักษาลมอัณฑวาต (ลมในอัณฑะ ?) ที่แล่นมาตามลำคอ ให้นั่งงอเข่าทั้งสองข้าง ไขว้ข้อเท้า ใช้มือนวดเฟ้นตามลำคอ

ต้นทางของนาม “โยคีอะแหม่” มาจากวรรณคดีเรื่องใดยังค้นไม่พบ แต่โยคีแขกตนนี้น่าจะเป็นที่รู้จักกันดีในจักรวาลฤๅษีสยามมาช้านาน เพราะมีภาพวาดรวมอยู่ใน “ตำราเทวรูปไสยศาสตร์” ที่ปัจจุบันเก็บไว้ในหอสมุดแห่งชาติ เรียกว่า “พระอะแมฤๅษี” ส่วนตำราที่หอสมุดแห่งชาติอีกฉบับหนึ่ง คือ “พระสมุดรูปพระไสยศาสตร์” นอกจากจะมีภาพวาดแล้ว ยังมีคำอธิบายขยายความด้วยว่า “พระอะแมนิ้วมือข้างละ ๖ นิ้ว” (ดูหนังสือ “ตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์” ของกรมศิลปากร) ซึ่งแม้จะไม่ตรงกันทีเดียวนัก แต่ย่อมเกี่ยวข้องกับที่ระบุในโคลงภาพฤๅษีดัดตน ว่าท่านมี “มือสิบเอ็ดนิ้ว” คือมีมือข้างใดข้างหนึ่งที่มีหกนิ้ว รวมกันสองข้างเป็น ๑๑ นิ้ว

คุณไมเคิล ไรท์ (Michael Wright 1940 – 2009) นักเขียนของนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้ใฝ่ใจในเรื่องอินเดียใต้ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความ “ตำราเทวรูปพราหมณ์ คนวาดรูปในตำรา เคยดูอะไรมา…?” (นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๕ มีนาคม ๒๕๓๗) ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มหนังสือตำราเทวรูปพราหมณ์ในหอสมุดแห่งชาติ

คุณไมค์เสนอว่าคำว่า “อาแม” หรือ “อะแม” ในที่นี้ น่าจะเพี้ยนมาจากคำภาษาทมิฬ (ในอินเดียใต้) ว่า “อัมไม” (เจ้าแม่) แต่พร้อมกันนั้น เขายังคงข้องใจว่า “แต่เจ้าแม่หรือฤๅษีที่ไหนมีมือละหกนิ้ว ?”

ในที่นี้มีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาตามข้อความในโคลงฤๅษีดัดตนบทนี้ (“มือสิบเอ็ดนิ้วสลาม ศิวะไท้”) บ่งบอกว่า “โยคีอะแหม่” หรือ “พระอะแม” เป็นนักพรตในศาสนาพราหมณ์ฝ่ายไศวนิกายที่นับถือพระศิวะ ชวนให้นึกถึงบรรดา “นักบุญ” (Nayanar) จำนวน ๖๓ องค์ ตามคติไศวนิกายฝ่ายอินเดียใต้ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถค้นหามาเทียบเคียงได้ว่ามีตนใด หรือรูปเคารพในเทวาลัยแห่งไหน ที่มีนิ้วมือ ๑๑ นิ้ว หรือมีนิ้วมือข้างละ ๖ นิ้ว

เรื่องโยคีอะแหม่จึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ