๏ พระองค์อมรเมศแก้    กายโกง
ลมเสียดเสียวสลักโครง    ปวดอู้
ซ่นเหนี่ยวเกี่ยวไหล่โชลง    ลมแบ่ง เบาเฮย
มือหนึ่งเหนี่ยวขาคู้    ขยาดถ้าระอาทำฯ

พระอริยวงศมุนี

ตามรอยฤๅษีดัดตน 56 - อมรเมศ

(ถอดความ) ฤๅษีอมรเมศ แก้หลังโกง มีลมเสียดให้ปวดเสียว บรรเทาลมด้วยการเอาส้นเท้าข้างหนึ่งเกี่ยวไว้กับไหล่ (โชลง หรือ ชโลง เป็นคำเดียวกับจรรโลง หมายถึงพยุงไว้ไม่ให้เซ หรือจูง) ส่วนอีกมือหนึ่งเหนี่ยวขาให้พับไว้ ท่านี้นับว่าทำได้ยากยิ่ง (“ขยาดถ้าระอาทำ”)

ในพระราชนิพนธ์บทละคร “รามเกียรติ์” ของรัชกาลที่ ๑ ฤๅษีอมรเมศผู้อาศัยอยู่ที่เขาไกรลาส เป็นผู้แจ้งแก่พระรามว่า ทหารวานรชื่อไชยามพวาน ได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำทัพพระราม

๏ เมื่อนั้น
พระอมรเมศฤๅษี
ได้ฟังก็แจ้งแต่เดิมที
ว่าองค์เจ้าตรีโลกา
ประสาทพรไชยามพวาน
ถ้านารายณ์อวตารให้อาสา
ถือธงนำพยุหโยธา
จริงเหมือนวาจาพานร
ด้วยนามเพื่อนนั้นข่มนามยักษ์
ทั้งแหลมหลักกล้าหาญชาญสมร
จะเป็นศรีสวัสดิ์สถาวร
แก่พระสี่กรผู้ทรงฤทธิ์
อันหมู่อสูรพาลา
จะพ่ายแพัศักดาไม่ต้านติด
ปราบไปได้ทั่วทศทิศ
ปัจจามิตรจะราบทั้งธาตรี
พระองค์จงทำตามบรรหาร
พระสยมภูวญาณเรืองศรี
จะมีชัยแก่ราชไพรี
ทั่วไปทั้งตรีโลกา
ว่าพลางอำนวยอวยพร
ให้ถาวรบรมสุขา
แล้วลาออกจากพลับพลา
เหาะมากุฎีพระอาจารย์ ฯ


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ