ทีม “ลำดวน ชวนชม”
เรื่อง : ศศิลภัส พลวัน
ภาพ : วรพล ลาภประสิทธิ์สุข

มันดาลา วงกลมแห่งการเดินทาง

วงกลมของล้อรถยนต์ ล้อจักรยาน ล้อมอเตอร์ไซค์ ล้อรถไฟ ล้อเครื่องบิน หรือยานพาหนะที่ไม่มีล้ออย่างเรือ ก็ยังมีพังงารูปวงกลม ที่พาเราออกไปพบความสุขภายนอกได้เสมอ เดินทางไปหาพ่อแม่ พี่น้อง คนรัก ญาติสนิทมิตรสหาย ดูหนัง ฟังเพลง ปาร์ตี้ ชอปปิง ท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ และยังมีวงกลมวงหนึ่งที่พาเราเดินทางกลับเข้าไปพบความสุขสงบภายในใจเรา

วงกลมของโลก วงกลมของเรา

หากสังเกตดีๆ จะพบว่าวงกลมตามธรรมชาติที่โลกสร้างขึ้นนั้น มีให้เห็นมากมาย ตั้งแต่วงปีของต้นไม้ วงกระเพื่อมของน้ำ กลีบดอกไม้ที่ล้อมรอบเกสร และถ้าส่องกระจกใกล้ๆ มองเข้าไปในดวงตาก็จะเห็นวงกลมวงหนึ่งอยู่ในนั้นเช่นกัน

มนุษย์สร้างวงกลมขึ้นจากความเชื่อความศรัทธาในลัทธิ ศาสนาต่างๆ ทั้งธรรมจักรในศาสนาพุทธ สัญลักษณ์หยิน-หยางของลัทธิเต๋า ดรีมแคชเชอร์ เครื่องดักจับฝันร้ายของชาวอินเดียนแดงโบราณ วงกลมเอ็นโซที่เกือบจะเต็มวงของนิกายเซน รวมถึง “มันดาลา” ที่พาเรากลับเข้าสู่ข้างในใจด้วย

circlemandala01 1

มันดาลามาจากไหน

จากการค้นหาความรู้เรื่องมันดาลา ทำให้รู้ว่าเป็นศิลปะชั้นสูงของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่พระลามะทิเบต สร้างขึ้นด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา ถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เริ่มจากร่างภาพวงกลมที่มีลวดลายสลับซับซ้อนเป็นชั้นๆ ล้อมรอบจุดศูนย์กลาง แล้วระบายสีด้วยทรายหยาบและทรายละเอียด ซึ่งทรายเหล่านี้จะนำไปผสมสีที่ได้จากแร่ธาตุต่างๆ ก่อนเพื่อให้ได้ภาพมันดาลาที่มีสีสันสวยงาม

อุปกรณ์ที่ใช้ระบายสีเรียกว่า “ชัคปูร์” เป็นกรวยเรียวแหลม ทำจากโลหะ ส่วนปลายมีรูขนาดเท่ากับหลอดเครื่องดื่มขนาดเล็ก พอให้เม็ดทรายค่อยๆ ไหลทีละน้อยๆ กับ “ชิงกา” ลักษณะคล้ายเกรียงสำหรับตกแต่งหรือตัดเส้นเพิ่มความสวยงาม

การลงสีภาพมันดาลา พระลามะจะกรอกทรายลงในชัคปูร์ แล้วใช้เขาสัตว์อันเล็กๆ เคาะกรวยโลหะเพื่อให้ทรายร่วงลงบนภาพร่าง

มันดาลาภาพหนึ่งใช้เวลานานนับเดือน ใช้ชัคปูร์หลายสิบอัน แต่ละอันจะใช้สำหรับสีเดียวเพื่อไม่ให้ทรายสีปะปนกัน ระหว่างโรยทรายลงบนภาพ ลามะจะท่องมนตรา สวดภาวนา รวมทั้งแผ่เมตตาสร้างสมาธิไปด้วย เมื่อภาพมันดาลาเสร็จเรียบร้อยจะนำไปถวายเป็นเครื่องบูชา จากนั้นเก็บรักษาไว้ในวิหาร ๑ ปี ให้ผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้าไปกราบไหว้ ก่อนจะกวาดเม็ดทรายทั้งหมดเข้าด้วยกัน เป็นการสลายภาพมันดาลา แล้วทิ้งในแหล่งน้ำคืนสู่ธรรมชาติ แสดงถึงกฎแห่งไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งในโลกล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด

ภายหลังมีศาสนิกชนที่เข้าไปสักการะภาพมันดาลา เห็นว่าทรายที่นำไปลงสีภาพนั้นเป็นสิ่งมงคล เพราะผ่านการสวดภาวนา จึงขอเก็บเม็ดทรายจากภาพวาดไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว พระลามะจึงแบ่งทรายเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งแจกจ่ายแก่ผู้ที่เข้าร่วมชม อีกครึ่งนำไปทิ้งแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง

เมื่อค้นหาคำว่า “มันดาลา” หรือ “แมนดาลา” ก็พบว่ามาจากภาษาสันสกฤต แปลว่าวงกลม และมีสองความหมายคือ หนึ่ง ที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ขณะรู้แจ้ง” และ สอง “ซึ่งล้อมรอบจุดศูนย์กลาง” หรือวงกลมซึ่งล้อมรอบจุดศูนย์กลางนั่นเอง

circlemandala02

มันดาลามาถึงบ้าน

ปัจจุบันมันดาลานำมาใช้ในรูปแบบศิลปบำบัด ช่วยคลายเครียด ใช้เป็นยานพาหนะในการกลับเข้าสู่ข้างในจิตใจ เพื่อสำรวจตัวเองและปรับสมดุลให้ชีวิตตัวเองได้มากขึ้น มีผู้นำความรู้เรื่องการวาดและระบายสีภาพมันดาลามาเผยแพร่แก่คนทั่วไปอยู่ไม่น้อย ทั้งจัดเป็นคอร์สเรียนเสียเงิน และร่วมกิจกรรมกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ภัทรา อุ้มสิน จากผู้ปฏิบัติสู่นักวาดภาพมันดาลา

“ครูทราย” หรือ ภัทรา อุ้มสิน เป็นอีกคนหนึ่งที่ถ่ายทอดศิลปะระบายสีภาพมันดาลาแก่ผู้สนใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในรูปแบบวิทยากรจิตอาสาร่วมกับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ด้วยต้องการให้ผู้เข้าร่วมอบรมโดยเฉพาะเด็กๆ เติบโตอย่างมีสติ ได้เรียนรู้จักตัวเอง รับมือกับสถานการณ์โลกข้างนอก สามารถจัดการสภาวะข้างในได้ และมีจิตใจที่แข็งแกร่ง

ครูทรายชอบงานศิลปะและวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นมีโอกาสฝึกสมาธิ เจริญสติ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เมื่อเห็นภาพมันดาลาในอินเทอร์เน็ตก็เกิดสงสัย จึงค้นหาข้อมูลพบว่าในต่างประเทศใช้ภาพมันดาลาเพื่อการบำบัด ผ่อนคลายความเครียด นอกจากนี้นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงอย่าง คาร์ล ยุง ก็ยังสนใจเรื่องมันดาลาเช่นกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ครูทรายวาดมันดาลาขายในเว็บไซต์ และลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งซื้อเป็นชาวต่างชาติแถบยุโรปตามที่ได้ค้นข้อมูลมาแล้วจริงๆ

วาดภาพมันดาลาไประยะหนึ่ง ครูทรายก็พบว่าช่วงขณะหนึ่งในการวาดภาพและปฏิบัติธรรมจะมีสภาวะที่คล้ายกันเกิดขึ้น จึงนำมาประยุกต์กับตัวเอง พร้อมออกแบบภาพวาด และเริ่มสื่อสารให้คนลองฝึกสมาธิในรูปแบบระบายสีภาพมันดาลา เพื่อจูงใจและสร้างโอกาสแก่ผู้สนใจ

ภาพเป็นเพียงอุปกรณ์ สิ่งสำคัญคือจิตใจของเรา

ก่อนระบายสีภาพมันดาลา ครูทรายจะอธิบายให้ผู้ร่วมอบรมฟังว่า มันดาลาเป็นภาพที่มีความเป็นนามธรรม สองฝั่งเหมือนกัน ทุกเส้นมุ่งสู่ศูนย์กลาง บางภาพเป็นภาพเรขาคณิต ซ้ำเป็นแฉกๆ ยิ่งแฉกมากยิ่งซับซ้อนมากก็จะเพิ่มความจดจ่อเกิดสมาธิได้ง่าย ส่วนความหลากหลายของลวดลายที่ครูทรายออกแบบก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากระบายมากขึ้น พอระบายภาพหนึ่งเสร็จ ก็อยากระบายภาพต่อไป ได้ใช้เวลาฝึกสมาธิเพิ่มขึ้น

ออกเดินทาง” เชื่อมโยงโลกข้างนอกกับโลกข้างใน 

เมื่อทำความรู้จักภาพมันดาลาในแบบของครูทรายแล้ว ครูทรายจะให้ผู้เรียน “ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น” โดยนึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้แล้วค่อยๆ ไล่ขึ้นมาจนปัจจุบัน เพื่อให้เห็นสภาวะอารมณ์ในแต่ละช่วงเวลา จากนั้นก็เขียน “บรรยายความรู้สึก” บนกระดาษว่า ขณะนี้เรารู้สึกอย่างไร เพื่อเชื่อมโยงความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายนอกและความรับรู้จากข้างในใจ

สิ่งที่ได้รับคือ หลายคนรู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบาย อาจเพราะได้เคาะตะกอนบางอย่างให้หลุดจากหัวใจลงมาไว้บนกระดาษ

พอใจเบาสบายแล้ว ครูทรายจะให้ผู้เข้าอบรมพบ “สถานการณ์จำลอง” จากสีน้ำ ด้วยการใช้ปลายพู่กันจุ่มน้ำในแก้ว แล้วแตะแม่สีสามสีทีละสี ระบายบนกระดาษ พร้อมสังเกตความรู้สึก จากนั้นจะพบสถานการณ์ที่ยากกว่าเดิมอีกนิด เมื่อได้ทดลองผสมแม่สีทั้งสามเข้าด้วยกันทีละคู่เพื่อให้ได้สีใหม่ สังเกตความรู้สึกว่าสีที่ผสมออกมาได้ดั่งใจหรือเปล่า ถ้าใช่แล้วรู้สึกอย่างไร  ถ้าไม่ รู้สึกอย่างไร แก้ไขอย่างไร ขั้นตอนนี้จะทำให้มองเห็นตัวเองในการจัดการกับสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น

มาถึงไฮไลต์ของกิจกรรมนั่นคือ ลงมือระบายสี

ใช้ความรู้สึกเลือกภาพมันดาลาแทนการใช้ความคิดหรือเหตุผล จะเป็นภาพที่แฉกน้อยแฉกมากก็ได้ เลือกสีตรงหน้าค่อยๆ ระบายลงบนภาพ ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่จะได้อยู่กับตัวเอง เรียนรู้ว่ามีอารมณ์หรือความรู้สึกใดเกิดขึ้นบ้าง แล้วเราจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร

ขั้นตอนนี้จะทำให้สังเกตความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับใจของเราได้ชัดเจนมากขึ้น

circlemandala03

ตามใจ ให้รู้(จิต)ใจ 

บางครั้งการตามใจตัวเองอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี

แต่การตาม “ดูใจ” ของตัวเองจะให้ผลกลับกัน เพราะเราจะเปลี่ยนจาก “ผู้เล่น” เป็น “ผู้ดู” ซึ่งจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนกว่าผู้เล่นที่อยู่ในเกมหรือในสนามเสมอ

การระบายสีภาพมันดาลาตามแบบฉบับของครูทราย ให้เราเป็นผู้เล่นในขั้นตอนระบายสี และเป็นผู้ดูที่ค่อยๆ ตามดูใจของตัวเองไปเรื่อยๆ ระหว่างแต่งแต้มสีสันลงบนภาพ แม้จะเริ่มต้นด้วยการใช้สีน้ำ แต่เมื่อกลับไปทำเอง ครูทรายจะแนะนำให้ใช้สีและเลือกภาพโดยใช้ “ความรู้สึก” มากกว่าความคิดหรือเหตุผล แค่เป็นภาพที่อยากระบาย เป็นสีที่อยากใช้ เท่านั้นก็พอ

ก่อนระบายสี มองที่ภาพ อยากเริ่มจากช่องไหนก็ระบายสีช่องนั้น ค่อยๆ ระบายสีทีละช่องวนไปเรื่อยๆ จนช่องว่างสุดท้ายมาชนกับช่องแรกที่ระบายไว้ จึงระบายรอบใหม่ จดจ่ออยู่แค่ช่องที่ระบายไม่ต้องคิดถึงทั้งภาพ 

ภาพมันดาลามีตั้งแต่แฉกน้อยๆ ๑๐-๒๐ แฉกจน ๓๐-๔๐ แฉก ทุกครั้งที่ระบายสีครบรอบ สิ่งที่เกิดตามมาคือเราจะรู้สึกตัว เพราะต้องเริ่มสีใหม่กับรอบใหม่ มีจังหวะได้ฝึกรู้ตัวบ่อยๆ ฝึกให้ตัวเองได้หยุด  ฝึกรู้ทันความคิด ฝึกดูอารมณ์และความรู้สึกเมื่อเดินทางข้างในใจ และพบสิ่งต่างๆ ในนั้น 

ภาพหนึ่งภาพใช้เวลาระบายสีประมาณ 1-2 ชั่วโมง เวลาสั้นๆนี้ เป็นเหมือนสถานการณ์จำลองให้ได้ลองฝึกจัดการกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ

ความคิด ห้ามไม่ได้ แต่ห่างได้” 

นักวิจัยชาวอเมริกันศึกษาวิจัยและพบว่า แต่ละวันสมองของมนุษย์คิดมากถึง ๗๐,๐๐๐ เรื่อง เฉลี่ย ๓,๐๐๐ เรื่องต่อชั่วโมง ๕๐ เรื่องต่อนาที อุแม่เจ้า!!! เรียกว่าคิดกันแทบจะวินาทีละเรื่องเลย และแน่นอนว่าต้องมีความคิดลบๆ ทำให้เกิดทุกข์แทรกมาโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอๆ

“ถ้าไม่คิดก็ไม่ทุกข์” คำพูดง่ายๆ ที่ทำได้แสนยาก แถมบางทีการพยายามไม่คิด ยิ่งเพิ่มทุกข์ให้กับใจอีก ห้ามความคิดคงห้ามไม่ได้ แต่ทำให้คิดน้อยลง ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงนัก

“การระบายสีภาพมันดาลาช่วยพาเราออกจากความคิด เมื่อจดจ่อกับการเติมสีลงไปในช่องว่างๆ ของภาพ ก็ยิ่งคิดน้อยลงเรื่อยๆ ยิ่งระบายสีลงบนช่องว่างสีขาวมากเท่าไร ก็ยิ่งออกห่างจากความคิดไม่ว่าจะนึกถึงอดีต หรือกังวลถึงอนาคตข้างหน้า มากเท่านั้น

“ถ้าฝึกตัวเองให้รู้ทันว่ากำลังคิด เราก็กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ด้วยการดึงตัวเองมาอยู่กับภาพและสีตรงหน้า มาอยู่กับมือที่กำลังลงสี ทำให้ดีที่สุดในวินาทีที่กำลังทำอยู่ ก็เป็นการฝึกให้เราห่างจากความทุกข์ได้บ่อยครั้งขึ้น”

ครูเพิ่มเติมความรู้แก่ผู้ร่วมอบรม

Flow State ภาวะลื่นไหล” ความสุขที่ค้นพบโดยไม่ต้องค้นหา   

เมื่อเราปล่อยกายและใจให้ทำงานกับภาพมันดาลา ผ่านไประยะหนึ่ง เราจะเพลิดเพลินเหมือนภาพมันดาลา สี และมือของเรา หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติ เวลาผ่านไปรวดเร็ว จนลืมดูเลยว่านานแค่ไหน ความรู้สึกนี้เรียกว่าภาวะลื่นไหล (flow state) หรือภาวะดำดิ่ง

ครูทรายบอกข้อดีของการอยู่ในภาวะ flow state ว่า “การอยู่ในภาวะลื่นไหลจะช่วยเพิ่มความจำ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน คิดและตัดสินใจแก้ปัญหาดีขึ้น ที่สำคัญคือมีความสุขได้ง่าย พึงพอใจในชีวิตมากขึ้น การอยู่ในภาวะลื่นไหลช่วงสั้นๆ ของแต่ละวัน จะส่งผลต่อเวลาที่เหลือทั้งวันด้วย” 

circlemandala04

ระบายสี ระบายใจ

ขั้นตอนสุดท้ายคือการระบายใจ ครูทรายจะให้ผู้เข้าร่วมอบรมบอกเล่าสภาวะที่เกิดขึ้นระหว่างระบายสี เพื่อทบทวนและแบ่งปันประสบการณ์กับผู้อื่น เพราะถึงแม้จะนั่งเรียนในห้องเดียวกัน บรรยากาศเดียวกัน สีประเภทเดียวกัน ภาพมันดาลาภาพเดียวกัน สิ่งที่แต่ละคนได้รับก็ต่างกัน

“พิรุณ” บอกว่า “รู้สึกสงบ เบาๆ สบายๆ ตอนทำไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลย ระบายไปเรื่อยๆ ชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นมากๆ ครับ” ขณะ “สุกิจ” บอกว่า “หลังจากเลือกภาพแล้ว คิดว่าต้องยากแน่ๆ ไม่น่าเลือกภาพซับซ้อนเลย แต่พอระบายสีรู้สึกเวลาผ่านไปเร็วมาก ระหว่างระบายสีเหมือนได้คุยกับข้างในใจของตัวเองด้วย เป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ มีความสุขครับ”

เดินทางไปหาใคร….เดินทางไปหาใจ

การเดินทางไปหาใครโดยอาศัยวงกลมของล้อรถ ล้อเครื่องบิน ล้อรถไฟ ต้องมีมากกว่าหนึ่งวงกลม และมักเดินทางร่วมกับผู้คนมากหน้าหลายตา แต่วงกลมมันดาลาที่พาเรากลับไปหาใจ มีเพียงครั้งละหนึ่งวง และต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองเท่านั้น

วิธีดีที่สุดคือ อย่าเชื่อทั้งหมดที่อ่าน แต่ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง

circlemandala05

#มันดาลา #ศิลปะบำบัด #ระบายสี #สุขหมุนรอบตัวเรา #ค่ายนักเล่าความสุข #มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์ #นิตยสารสารคดี #เพจความสุขประเทศไทย #สสส