๏ รบือนามโคบุตรก้อง กูณฑ์สรร สฤษฎิเฮย ถอดหทัยทศกัณฐ์ เก็บไว้ ท่าดัดพับเพียบผัน พักตร์หน่อย ณแฮ แขนใด่ขัดเท้าให้ หัตถ์บไข้นวดแขนฯ
พระอริยวงศมุนี
(ถอดความ)ฤๅษีโคบุตรผู้มีชื่อเสียง ถอดดวงใจของทศกัณฐ์มาเก็บแยกไว้ กำลังแสดงท่าดัดตนแก้แขนขัด โดยนั่งพับเพียบ เอียงหน้าเล็กน้อย แขนข้างใดขัดให้เอาฝ่ามือยันกับพื้นข้างลำตัว (“แขนใด่ขัดเท้าให้”) แล้วใช้มือข้างที่เป็นปรกติดี (“หัตถ์บ่ไข้”) นวดเฟ้นแขนข้างที่ขัดนั้น
น่าสนใจว่าในบาทแรกของโคลงบทนี้ (“รบือนามโคบุตรก้อง กูณฑ์สรร สฤษฎิเฮย”) กวีผู้เป็นพระสงฆ์ราชาคณะ มีสมณศักดิ์ที่ พระอริยวงศมุนี ดูเหมือนต้องการเลี่ยงคำว่า ฤๅษี (ผู้เห็น ในรูปคำภาษาสันสกฤต) อิษี (อิสิ ตามรูปคำภาษาบาลี) และดาบส (ผู้บำเพ็ญตบะ) ที่มักใช้กันซ้ำๆ ในโคลงชุดฤๅษีดัดตนส่วนมาก จึงเลี่ยงไปกล่าวว่าท่านโคบุตรเป็นผู้ก่อ (สฤษฎิ/สฤษดิ์) กองไฟ (กูณฑ์) ตามความเข้าใจของคนไทยแต่ก่อน ว่าฤๅษีมีศาสนกิจคือบูชาไฟ ดังนั้นจึงต้องหมั่นคอยดูแลและรักษากองไฟ (หรือที่เรียกว่า “โหมกูณฑ์”)
ในบทละคร “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ฤๅษีโคบุตรเป็นพระอาจารย์ของทศกัณฐ์ ผู้ประกอบพิธีถอดดวงใจทศกัณฐ์ให้แยกออกจากร่าง ใส่กล่องศิลาผนึกปิดไว้ แล้วให้ฤๅษีโคบุตรเป็นผู้เก็บรักษา ทศกัณฐ์จึงฆ่าไม่ตาย
๏ ครั้นถึงจึ่งตรงเข้าไป หยิบเอาดวงใจยักษี ถือไว้แล้วกล่าววาที นี่คือชีวิตทศกัณฐ์ อยู่ในศีลาประกับ แกล้งปรับให้ชิดสนิทมั่น ทำพิธีเจ็ดเดือนเจ็ดวัน จิตนั้นจึ่งออกจากกายา ฯ
เมื่อฝ่ายพระรามรู้ความจริงข้อนี้ จึงให้หนุมานทำทีไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์ ลวงจนฤๅษีโคบุตรหลงเชื่อ ยอมมอบกล่องดวงใจของทศกัณฐ์ให้ พระรามจึงสามารถสังหารทศกัณฐ์ได้ในที่สุด
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ