๏ จุลพรหมสี่พักตร์นี้       แผลงฤทธิ์
ยกเข่าเหยียดแขนอิสิต      เสือกเท้า
แผนแพทย์พัตโหนดพิศ      ดารบอก ไว้นา
แก้ปัตฆาฏขึ้นเร้า      อกบั้นเอวหายฯ

พระยาศรีสหเทพ

julapromma00

(ถอดความ)ฤๅษีจุลพรหม ผู้มีสี่หน้า แผลงฤทธิ์ทำท่ายกเข่า เอาขามาขัดกันไว้ พร้อมกับเหยียดแขนออกไป ท่านี้ใช้แก้ลมปัตคาดในอกในเอว

คำว่า “อิสิต” ในที่นี้ คงแผลงมาจาก “อิษิ” หรือ “อิสิ” ที่แปลว่าฤๅษี

แต่ที่ยังค้นไม่ได้คือ “แพทย์แผนพัตโหนด” นั้นหมายถึงอะไรกันแน่ ?

เท่าที่หาพบ คำว่า “พัตโหนด” หรือ “พัดโหนด” ดูเหมือนจะเป็นชื่อหมอควาญช้างประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่ฝึกหัดช้างศึก แต่ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องฤๅษีดัดตนนี้

ที่พอจะใกล้เคียงที่สุด คือนามฤๅษีจุลพรหมตามโคลงบทนี้ อาจตรงกับฤๅษีจุฬามหาพรหม ที่กล่าวถึงในหนังสือ “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” ซึ่งว่าที่จริง ตำราเล่มนี้ล้วนแต่ให้อรรถาธิบายว่าด้วยกำเนิดของวิชาคชศาสตร์ทั้งสิ้น

นาม “จุฬามหาพรหม” ปรากฏขึ้นตอนที่กล่าวถึงช้างเอกทันต์ ซึ่ง

“มีงาเดียวงอกกลางเพดาน มีอำนาจมาก จะแทงเงาและรอยเท้ามนุษย์แลสัตว์ทั้งหลายถึงแก่มรณภาพสิ้น ช้างนั้นหยาบช้านักเที่ยวกระทำย่ำยีตรีโลกทั้งหลายให้ได้ความเดือดร้อนนัก จึ่งพระนักสิทธิ์ทั้งหลาย มีฤๅษีจุฬามหาพรหม เป็นต้น ปรึกษาพร้อมกันแล้วจึ่งขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรเป็นเจ้า กราบทูลประพฤติเหตุทั้งปวง…”

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น “พรหม” แล้ว ช่างไทยมักเขียนเป็นภาพบุคคลมีสี่หน้าเสมอ อย่างสำนวนไทยที่ว่า “พรหมสี่หน้า” แต่ขนบการเขียนภาพทั่วไปมักแสดงให้เห็นเพียงสามหน้า คือมีหน้าตรงที่เห็นเต็มใบหน้า กับหน้าด้านซ้ายและขวาที่จะเห็นเพียงด้านข้าง โดยช่างละไว้ “ในฐานที่เข้าใจ” ว่ายังมีใบหน้าที่ ๔ ทางด้านหลังซึ่งมองไม่เห็นอีกหนึ่ง รวมทั้งหมดเป็นสี่หน้า

รูปฤๅษีจุลพรหมภาพนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนั้นเอง


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ