๏ อัศทิศนั่งแอ่นเอี้ยว       องค์เปร
ทับแค่งขาหนึ่งเฉ      เฉียดล้ม
กรขวากดอกเอ     เอียงเหยียด ซ้ายเอย
แก้เจ็บบาทบ่ก้ม     พักตร์พลิ้วแพลงหงายฯ

พระญาณปริยัติ

อัศทิศ

(ถอดความ) ฤๅษีอัศทิศนั่งแอ่นตัว พับขาข้างหนึ่ง (พร้อมกับเหยียดขาอีกข้าง-ดูภาพ) มือขวากดหน้าอก แขนซ้ายเหยียด พร้อมกับหงายหน้า ท่านี้ใช้แก้อาการเจ็บเท้า (ซึ่งเกิดจากลมในเท้า)

อัศทิศ หรือ อสทิส เป็นฤๅษีใน “อสทิสชาดก” กล่าวถึงเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอสทิสราชกุมาร ผู้สละราชสมบัติกรุงพาราณสีให้แก่พรหมทัตราชกุมาร พระอนุชา แล้วไปรับราชการเป็นพลแม่นธนูในราชสำนักแว่นแคว้นอื่น
เมื่อราชาเจ็ดพระนครทราบว่าอสทิศราชกุมารมิได้อยู่ในกรุงพาราณสีแล้ว จึงยกทัพมาล้อมเมืองไว้ พระอนุชาให้ส่งคนออกตามหาตัวอสทิสราชกุมารจนพบ เจ้าชายนักแม่นธนูจึงเสด็จกลับมาแสดงฝีมือธนูให้ปรากฏ จนข้าศึกเกิดครั่นคร้ามแตกพ่ายไปสิ้น โดยมิต้องเสียเลือดเนื้อ

เสร็จศึกแล้ว อสทิศราชกุมารจึงออกผนวชเป็นฤๅษี และตรัสพระคาถาว่า (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๓” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย)
“เจ้าชายพระนามว่าอสทิสราชกุมารเป็นนักธนู มีกำลังมาก ยิงธนูให้ไปตกในที่ไกลๆ ได้ ยิงไม่พลาด สามารถทำลายของกองใหญ่ๆ ได้

“พระองค์ทรงทำการรบให้ข้าศึกทั้งปวงหนีไป แต่มิได้เบียดเบียนใครๆ เลย ทรงทำพระกนิษฐภาดาให้มีความปลอดภัย แล้วก็เข้าถึงความสำรวม”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ