ตามรอยฤๅษีดัดตน ขุทธาลกะ
๏ ขุทธาลกะเจ้า     เจ็บบาท
เพื่อพิการลมกาจ     กับเส้น
ดัดตนตัดลมขาด     ขาเมื่อย ม้วยแฮ
มือหนึ่งนวดอกเน้น     หนึ่งค้ำคางแหงนฯ

พระญาณปริยัติ

(ถอดความ)ฤๅษีขุทธาลกะเกิดเจ็บขา เพราะมีลมในเส้น ท่านจึงดัดตนเพื่อตัดลมให้หายเมื่อยขบ ด้วยการใช้มือหนึ่งนวดอก อีกมือยันค้ำคางให้แหงนหงายขึ้น

ฤๅษีขุทธาลกะในที่นี้อาจตรงกับฤๅษีกุททาลบัณฑิตจาก “กุททาลชาดก” กล่าวถึงเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติมาเกิดในตระกูลเกษตรกรสวนผัก แม้ตัดใจออกบวชแล้วก็ต้องสึกกลับมาเป็นคฤหัสถ์ถึงเจ็ดครั้ง เพียงเพราะมีจิตประหวัดถึงจอบด้ามเก่าที่เคยใช้ อันเป็นสมบัติติดตัวเพียงชิ้นเดียวในชีวิต จนภายหลังเมื่อตัดใจได้จึงจับจอบควงสามรอบเหนือศีรษะ แล้วเหวี่ยงหวือทิ้งโครมลงในแม่น้ำ พลางประกาศก้อง “เราชนะแล้ว! เราชนะแล้ว! เราชนะแล้ว!”

พระเจ้ากรุงพาราณสีซึ่งเพิ่งรบชนะข้าศึกมากำลังสรงสนานล้างเนื้อล้างตัวในแม่น้ำได้ยินเข้า จึงให้นำตัวพระโพธิสัตว์มาซักถามว่า “ข้าเองเพิ่งมีชัยในศึกสงครามมา แล้วเจ้าล่ะ ชนะอะไร ?” กุททาลบัณฑิตจึงกราบทูลว่า “แม้มหาราชจะชนะสงครามสักกี่ร้อยกี่พันครั้ง หรือแม้แต่แสนครั้ง ก็ยังไม่เด็ดขาดแท้จริง เพราะหาเอาชนะกิเลศได้ไม่”

เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา กุททาลบัณฑิตจึงกล่าวคาถานี้ (อ้างอิงตาม “พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) ว่า

“ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว กลับแพ้ได้นั้น มิใช่ความชนะเด็ดขาด (ส่วน) ความชนะที่บุคคลชนะแล้ว ไม่กลับแพ้นั้นต่างหาก จึงจะชื่อว่าเป็นความชนะเด็ดขาด”

เมื่อแสดงธรรมแล้ว พระราชาตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่าท่านจะไปไหนต่อ กุททาลบัณฑิตกราบทูลว่าจะเข้าป่าหิมพานต์ไปบวชเป็นฤๅษี พระเจ้ากรุงพาราณสีพร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงขอติดตามออกบวชด้วย

ทั้งหมดเมื่อเจริญพรหมวิหารแล้วพากันไปสู่พรหมโลกโดยทั่วหน้า


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ