๏ โยคีอังคตกล้า     สมาบัติ
รู้ชาติเนาวรัตน์ชัด     ชื่อนั้น
แก้ลมเสียดเสียวขัด     ลำฝัก หายแฮ
นั่งสมาธิ์นวดคอคั้น    ขบเคี้ยวตาขมึงฯ
angkot

(ถอดความ)ฤๅษีอังคต ผู้แก่กล้าในญาณสมาบัติ มีความรอบรู้เรื่องที่เกิดของเนาวรัตน์ (คือแก้วเก้าประการ) ท่านแก้อาการลมเสียดเสียวขัดในลำลึงค์และอัณฑะ ด้วยการนั่งขัดสมาธิ แล้วใช้มือทั้งสองข้างนวดลำคอ พร้อมกับทำหน้าตาถมึงทึง ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน

ในบทละครเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ มีฤๅษีตนหนึ่งนามว่า “อังคต” ว่าเป็นอาจารย์ของพาลี และเป็นผู้แหวะท้องนางมณโฑ เอาบุตรในท้องที่เกิดกับพาลี คือองคต ไปฝังตัวอ่อนไว้ในท้องแพะ ก่อนส่งคืนนางมณโฑให้แก่ทศกัณฐ์ไป

ดูเผินๆ ก็น่าจะสามารถตีความได้ดังนั้น เพราะในโคลงภาพฤๅษีดัดตนก็มีฤๅษีจากในเรื่อง “รามเกียรติ์” มากมายอยู่แล้ว แต่ยังติดขัดตรงที่ว่า คำโคลงยังขยายความต่ออีก ว่าฤๅษีอังคตตนนี้ “รู้ชาติเนาวรัตน์” คือเป็นผู้รู้กำเนิดของเนาวรัตน์ (หรือ “นพรัตน์”) จึงย่อมมิอาจเป็นฤๅษีอังคตจากเรื่อง “รามเกียรติ์” หากแต่หมายถึงฤๅษีผู้มีนามเดียวกันนี้อีกตนหนึ่งที่ปรากฏใน “ลิลิตตำรานพรัตน์”

เนื้อเรื่องของ“ลิลิตตำรานพรัตน์” กล่าวว่าครั้งหนึ่งทวยเทพเสด็จไปเฝ้าแหนพระอิศวร แล้วทูลถามเรื่องนพรัตน์ ว่าแต่ละอย่างมีความเป็นมาเช่นไร พระอิศวรทรงแนะให้ไปหาพระฤๅษีอังคต ผู้รู้จริงเรื่องนี้ เมื่อเทวดาทั้งหลายไปสอบถาม พระฤๅษีอังคตจึงพรรณนากำเนิดของรัตนะแต่ละชนิด กับทั้งลักษณะดีร้ายต่างๆ ให้ฟังจนครบถ้วนกระบวนความ ตำราเรื่องนี้จึงถือเป็น “ความรู้เฉพาะทาง” ของกลุ่มช่างเพชรช่างทองของหลวง ดังปรากฏในต้นฉบับว่ามีสำเนาเก็บรักษาไว้กับขุนนางข้าราชการที่เป็นช่างเจียระไนและช่างทองหลายคนมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ดังนั้น ฤๅษีอังคตใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” บทนี้ จึงย่อมหมายถึงฤๅษีอังคตใน “ลิลิตตำรานพรัตน์” แน่นอน

นพรัตน์หรือนวรัตน์ คือแก้วเก้าประการนี้ ภายหลังมีผู้แต่งเป็นร่ายอธิบายสีสันของแต่ละชนิด จนติดปากคนไทยมาถึงทุกวันนี้ว่า

“เพชรดีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารสีหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ