๏ อนิตถิคันธ์ท่านนิ่วหน้า      ตาถลึง
ลมเสียดสองหัดถ์ตึง     ปวดติ้ว
พับเข่านั่งคำนึง      นึกดัด ดังฤๅ
กายชดชระดัดนิ้ว      นบถ้าเทพพนมฯ

พระญาณปริยัติ

ตามรอยฤๅษีดัดตน 65 - อนิตถิคันธ์

(ถอดความ)ฤๅษีอนิตถิคันธ์ทำหน้านิ่วถลึงตาด้วยความเจ็บปวดจากลมเสียดที่ข้อมือทั้งสอง ท่านนั่งพับเพียบ ดัดนิ้ว ด้วยการประนมมือท่าเทพนม (“ถ้าเทพพนม” สะกดเป็นโทโทษ) เพื่อแก้ลมข้อมือ

บุคคลผู้มีนามว่า “อนิตถิคันธ์” มีอยู่ทั้งในชาดกและในพุทธประวัติ แต่รายที่ออกผนวชเป็นฤๅษี มีกล่าวถึงอยู่ใน “มหาปโลภนชาดก” ว่าครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชโอรสของพระเจ้ากาสิกราช ทรงพระนามว่าพระอนิตถิคันธกุมาร ตั้งแต่เล็กแต่น้อย พระองค์ไม่ปรารถนาจะถูกเนื้อต้องตัวสตรีใด จนเมื่อเจริญพระชันษาขึ้น พระราชาจึงให้สตรีนางหนึ่งผู้มีรูปร่างงดงาม ฉลาดในการขับร้องฟ้อนรำและดีดสีตีเป่า ไปบรรเลงเพลงพิณและขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะอยู่นอกห้องพระบรรทม เป็นที่สะดุดหูสะดุดใจพระกุมาร จึงให้เรียกนางเข้าไปขับร้องในที่บรรทม จนตกเป็นชายาของพระอนิตถิคันธกุมารในที่สุด แต่แล้วเจ้าชายกลับลุ่มหลงมัวเมาในรสกามโลกีย์ คิดละโมบว่ารสสัมผัสอันพิเศษสุดนี้ควรต้องเป็นของพระองค์แต่ผู้เดียวเท่านั้น ชายอื่นใดไม่ควรมีอยู่ในโลกทั้งสิ้น จึงควงดาบออกไล่ประหัตประหารผู้คน ราษฎรพากันมาร้องทุกข์กล่าวโทษแก่พระเจ้ากาสิกราช พระราชาให้เนรเทศออกไปเสียจากพระนครทั้งคู่ พระโอรสและชายาต้องไปปลูกอาศรมพำนักอยู่ริมฝั่งสมุทร

วันหนึ่งมีฤๅษีตนหนึ่งเหาะข้ามน้ำมายังอาศรมระหว่างที่อนิตถิคันธกุมารออกป่าหาผลไม้ ชายาจึงจัดภัตตาหารมารับรองฤๅษี เพียงได้รับการปรนนิบัติประเล้าประโลมโดยสตรี ฤๅษีผู้อาคันตุกะนั้นพลันเสื่อมฤทธิ์หมดสิ้น

ครั้นอนิตถิคันธกุมารกลับมาถึงอาศรม ฤๅษีพยายามหนี แต่เหาะออกไปไม่ทันไรก็ร่วงลงสู่ทะเล ตกน้ำตกท่าเปียกปอน พระกุมารจึงตรัสพระคาถา (อ้างอิงตาม “พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๗” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) ว่า

“ตัวท่านเองมาด้วยฤทธิ์ บนน้ำอันไม่แตกแยก ครั้นถึงความระคนด้วยสตรีแล้วต้องจมลงในมหรรณพ ธรรมดาสตรีมีปกติหมุนเวียน มีมายามาก มักทำพรหมจรรย์ให้กำเริบ ย่อมทำนักพรตให้จมลง ท่านรู้แจ้งฉะนี้แล้ว พึงเว้นเสียให้ห่างไกล”

ฤๅษีฟังแล้วได้คิด ฌานจึงบังเกิดขึ้นใหม่ ตะเกียกตะกายเหาะกลับขึ้นฟ้าไปได้

เมื่ออนิตถิคันธกุมารแลเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเกิดความสลดสังเวช น้อมนำใจไปในการบรรพชา และได้บรรลุถึงซึ่งพรหมโลกในที่สุด


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ