๏ สัจพันธ์นักสิทธิผู้      สถิตย์สัจ พันธ์เอย
ลมเสียดทรวงอกอัด      โรคเรื้อ
ประจงสองพระหัดถ์ดัด      ดันเข่า สองนา
นรชาติใคร่ได้เชื้อ      นวดเท้าอธิฐานฯ

ขุนธนสิทธิ์

sajpan00

(ถอดความ)ฤๅษีสัจพันธ์ ผู้สถิต ณ ภูเขาสัจพันธุ์ เกิดลมเสียดแน่นในอกมานาน ท่านจึงนั่งเอามือดันเข่าทั้งสองข้าง ผู้ใดปรารถนาได้วิชานี้ จงอธิษฐานขอแล้วนวดเท้าให้ท่าน

เรื่องฤๅษีสัจพันธ์ หรือสัจจพันธ์ มีอยู่ในอรรถกถาปุณโณวาทสูตร (อ้างตาม “พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒” ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย) ว่าครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จจากอารามพระเชตวัน โดย “เรือนยอด” ที่สามารถลอยขึ้นบนอากาศได้ ครั้นมาถึงภูเขาสัจจพันธ์ ใกล้เมืองสุนาปรันตะ

“ที่ภูเขานั้น มีดาบสมิจฉาทิฐิ ชื่อว่า สัจจพันธ์ ทําให้มหาชนถือเอาความเห็นผิด เป็นผู้ถึงลาภเลิศและยศเลิศอยู่. ก็ภายในตัวดาบสนั้นมีอุปนิสัยแห่งพระอรหัต โชติช่วงอยู่เหมือนประทีปที่อยู่ในตุ่ม. ครั้นทรงเห็นดาบสนั้นแล้วทรงพระดําริว่า เราจะแสดงธรรมแก่เขา จึงเสด็จไปทรงแสดงธรรม. เมื่อทรงเทศน์จบ ดาบสก็สําเร็จเป็นพระอรหันต์.”

จากนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จไปโปรดสัตว์ยังบ้านเมืองอื่นๆ ต่อไป พระสัจจพันธอรหันต์ได้โดยเสด็จไปกับบรรดาพระสาวกในเรือนยอดหลังหนึ่งด้วย สุดท้ายก่อนเสด็จกลับยังพระเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงแวะส่งพระสัจจพันธ์ไว้ที่ภูเขาสัจจพันธ์ตามเดิม พร้อมทั้งทรงเหยียบกดรอยพระพุทธบาท ประทานไว้ ณ ยอดเขา

พุทธศาสนิกชนชาวไทยนับถือกันมาแต่โบราณว่ารอยพระพุทธบาทที่ภูเขาสัจจพันธ์ตามความในอรรถกถาปุณโณวาทสูตร คือรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ถือเป็นหนึ่งในรอยพระพุทธบาทห้าแห่งอันพึงสักการะ ได้แก่ที่เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนะกูฏ โยนกบุรี และในลำน้ำนัมมทา

ใน “นิราศพระบาท” ของสุนทรภู่ ที่แต่งเมื่อคราวตามเสด็จเจ้านายไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี กล่าวว่าที่นั่นมีรูปปั้นฤๅษี ซึ่งคงหมายถึงฤๅษีสัจจพันธ์

๏ ทิศประจิมริมฐานมณฑปนั้น
มีดาบสรูปปั้นยิงฟันขาว
นุ่งหนังพยัคฆาชฎายาว
ครังเคราคราวหนวดแซมสองแก้มคาง

ดังนั้นที่ใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” กล่าวว่า “นรชาติใคร่ได้เชื้อ นวดเท้าอธิฐาน” (พร้อมกับวาดภาพญาติโยมหญิงกำลังหมอบกราบไว้นางหนึ่งด้วย) อาจมีนัยความหมายตามคตินิยมในยุคนั้น ว่าผู้ใดต้องการหายเจ็บหายไข้ ให้ไปนวดเท้าฤๅษีสัจจพันธ์ที่ลานมณฑปพระพุทธบาทกระมัง ?


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ