๏ กามินทร์มือยุดเท้า เหยียดหยัด มือหนึ่งเท้าเข่าขัด สมาธิ์คู้ เข้าฌานช่วยแรงดัด ทุกค่ำ คืนนา รงับราคอยากจะสู้ โรคร้ายภายในฯ
พระมหามนตรี
(ถอดความ)ฤๅษีกามินทร์นั่งเหยียดขาข้างหนึ่ง เอามือดึงปลายเท้า ส่วนขาอีกข้างพับไว้เหมือนนั่งขัดสมาธิ หากดัดตนท่านี้ทุกคืนจะช่วยระงับราคะ และรักษาโรคร้ายภายในต่างๆ
ยังค้นไม่พบนามกามินทร์ในวรรณคดี แต่เท่าที่หาได้ กลับไปมีปรากฏอยู่ในกลุ่มวรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ของภาคกลาง ซึ่งยกย่องให้ท่านเป็น “ครู” หรือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาเพศศาสตร์แก่มนุษย์ ตามนัยแห่งนาม คือ “ผู้เป็นใหญ่ในกาม” (กาม+อินทร์) ดังที่นักวิชาการเคยค้นพบ “ตำรานรลักษณ์ของฤๅษีกามิน” จากจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้นฉบับใบลาน และนำมาเผยแพร่ไว้ในชุดโครงการวิจัยเรื่อง “วรรณกรรมตำราเพศศาสตร์ของคนไทยในภาคกลาง : ไขความลับเป็นความรู้”
เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาความตามโคลงภาพฤๅษีดัดตนบทนี้ที่ว่า “รงับราค” ซึ่งน่าจะหมายความว่าท่านี้ใช้เพื่อระงับราคะ คือเป็นท่าดัดตนเพื่อลดความกำหนัด อันน่าจะเป็นข้าศึกแก่การปฏิบัติกุศลธรรมของเหล่านักพรต ยิ่งฟังดูเข้าเค้ากับคติการนับถือฤๅษีกามินทร์เป็นครูบาอาจารย์ฝ่ายเพศศาสตร์ ทำนองเดียวกันกับที่ระบุในโคลงบทอื่นๆ ถึงฤๅษีผู้เป็นต้นตำรับวิชา เช่น ฤๅษีนาลัยเป็นครูของแพทย์ ฤๅษีอิสีอุศัพเนตรเป็นครูวิชาเวทมนต์และว่านยา ฤๅษีสมมิทธิเป็นครูของหมอนวด ฤๅษีภรัตเป็นเจ้าแห่งวิชาปรอท
แม้มิได้ปรากฏคำยกย่องฤๅษีกามินทร์ว่าเป็นครูใหญ่ฝ่ายเพศศาสตร์ ไว้ที่ใดใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” เลยก็ตาม
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ