๏ อุดมนารอทรู้      กลดัด กายเฮย
ขาไคว่ไพล่สนัด       เข่าเข้า
เหยียดกรอ่อนเอาหัดถ์      หนึ่งส่ง ศอกนา
ลมโรคริดสีดวงเร้า      ชอบถ้าทำหายฯ

กรมหมื่นศรีสุเทพ

ตามรอยฤๅษีดัดตน ตอน 75 -  อุดมนารอท

(ถอดความ)ฤๅษีอุดมนารอทเป็นผู้รู้วิชาดัดตน ท่านนั่งไขว้ขา เหยียดแขนข้างหนึ่ง แล้วเอามืออีกข้างหนึ่งดันข้อศอก ท่านี้ใช้รักษาลมริดสีดวง

ในโคลงภาพฤๅษีดัดตนบทก่อนหน้านี้เคยใช้ชื่อพระฤๅษีนารท จากเรื่อง “รามเกียรติ์” และพระฤๅษีนารอท จากบทละครเรื่อง “อุณรุท” ไปแล้ว ในโคลงบทนี้จึงไม่ควรเป็นฤๅษีตนเดิมอีก แต่หากจะว่าเป็นพระฤๅษีผู้มีนามว่า “อุดมนารอท” ก็ติดขัดอยู่ว่ายังหาไม่พบชื่อนี้ในวรรณคดีเรื่องใด

ยังมีอีกแหล่งหนึ่งที่ปรากฏนามพระนารทฤๅษี คือพระโพธิสัตว์ลำดับที่ ๘ ในชุดเรื่องทศชาติชาดก ดังที่มักเรียกย่อเป็นเหมือน “หัวใจ” ว่า เต-ชะ-สุ-เน-มะ-ภู-จะ-นา-วิ-เว

นารทชาดกจับความเมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นท้าวมหาพรหม มีนามว่า นารท ได้จำแลงกายเป็นนักบวชมาแสดงธรรมเทศนา สั่งสอนพระเจ้าอังคติราชแห่งกรุงมิถิลา ผู้เกิดหลงผิดเชื่อถ้อยคำของคุณาชีวก นักบวชชีเปลือย ว่า “ในโลกนี้ บุญไม่มี บาปไม่มี ปรโลกไม่มี บิดามารดา ปู่ย่าตายาย สัตว์ทั้งหลายเกิดมาเสมอกันหมด ทานไม่มี ผลแห่งทานก็ไม่มี” พระองค์จึงละเลยการรักษาศีลและการทำทานที่เคยปฏิบัติมาเสียสิ้น แม้พระธิดารุจาราชเทวีพยายามโน้มน้าวให้พระบิดากลับมาอยู่ในศีลในธรรมก็ไม่เป็นผล พระนางจึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐานขอให้เทวดาฟ้าดินช่วย แล้วพรหมนารทก็เสด็จลงจากเทวโลกในเพศนักบวช เทศนาธรรมจนพระราชาละซึ่งมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด พระเจ้าอังคติราชทรงกลับมาตั้งมั่นในทศพิธราชธรรม บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็นอีกครั้งหนึ่ง

ในงานจิตรกรรมไทยมักแสดงภาพพรหมนารทในเครื่องทรงเยี่ยงพระฤๅษี ทว่าการจะตีความว่าภาพ “อุดมนารอท” ในที่นี้ คือพระฤๅษีพรหมนารท ก็ยังขัดข้อง เพราะคนโบราณคงนับถือพระโพธิสัตว์ในชุดทศชาติชาดกว่าเป็น “ของสูง” ในชุดภาพฤๅษีดัดตนจึงไม่เคยปรากฏภาพพระฤๅษีที่เป็นพระโพธิสัตว์ในชุดทศชาติชาดก (เช่น พระเวสสันดร) เลย

ดังนั้น ที่มาของนามพระฤๅษี “อุดมนารอท” ในที่นี้ จึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ