๏ วาสุเทพทอดอกขว้ำ     ลงกับ อาศน์เอย
นักสิทธิสุพรหมทับ     ไหล่แล้
เหยียบยันจระโพกจับ     ตีนเหนี่ยว นาพ่อ
วาสุเทพวานแก้     กล่อนร้ายเร็วหายฯ

พระยาบำเรอบริรักษ์

ตามรอยฤๅษีดัดตน 77 วาสุเทพและสุพรหม

(ถอดความ) ฤๅษีวาสุเทพนอนคว่ำ (ขว้ำ-โทโทษ) ส่วนฤๅษีสุพรหมยืนเหยียบสะโพก แล้วจับขาของวาสุเทพเหนี่ยวขึ้น เพื่อช่วยแก้กล่อน

นี่เป็นหนึ่งในจำนวนเพียงสองท่าของภาพชุดโคลงฤๅษีดัดตน ๘๐ ท่า ที่ต้องอาศัยสองแรงแข็งขันช่วยกันดัด ตามเนื้อความในโคลง ผู้ที่ป่วยด้วยโรคกล่อนคือฤๅษีวาสุเทพ ได้พึ่งพาอาศัยมิตรสนิท คือฤๅษีสุพรหม ให้ช่วยเหยียบและดึงยุดขาเหนี่ยวขึ้น

นามของฤๅษีวาสุเทพกับฤๅษีสุพรหม มาจากตอนต้นของคัมภีร์ “ชินกาลมาลีปกรณ์” กล่าวถึงตำนานเมืองหริภุญชัย โดยเท้าความว่า ครั้งนั้นยังมีฤๅษีสี่ตนกับคฤหัสถ์อีกนายหนึ่งเป็นสหายกัน คือฤๅษีวาสุเทพ อยู่ที่อุจฉุบรรพต ฤๅษีสุพรหม อยู่ที่สุภบรรพต ฤๅษีอนุสิสหรือฤๅษีสัชนาไลย อยู่ที่หลิททวันลินนคร และฤๅษีพุทธชฎิล อยู่ ณ ชุหะบรรพต ส่วนสุกกทันตะพำนักอยู่ที่ลวปุระ

บรรดาฤๅษีกลุ่มนี้ ถูกหยิบยืมนามมาใช้ใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ครบทั้งสำรับ

ส่วนคำว่า“กล่อน” ปรากฏในหนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) อันเป็นพจนานุกรมยุคต้นรัชกาลที่ ๕ (พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๑๖) อธิบายว่า “เป็นชื่ออาการโรคอย่างหนึ่ง, มันมักให้ปัศสาวะเหลือง ให้เจ็บหลังเปนกำลัง.”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ