๏ นักสิทธิสันโดษด้น      แดนดง
นามพุทธชฎิลทรง      ตำหรับแทร้
ไคว้หัดถ์รัดอกองค์      สมาธิ์เพ็ช นั่งนา
จุกเสียดสรรพางค์แก้     กอบด้วยดัดหายฯ

พระสุพรรณสมบัติ

ฤๅษีพุทธชฎิล ผู้ถือสันโดษในป่าดง เป็นต้นตำหรับการดัดตนด้วยท่าไขว้แขนกอดอก พร้อมกับนั่งขัดสมาธิเพชร (คือนั่งไขว้ข้อเท้าให้ฝ่าเท้าทั้งคู่หงายขึ้น) เพื่อใช้แก้ไขอาการลมจุกเสียดในร่างกาย

(ถอดความ) ฤๅษีพุทธชฎิล ผู้ถือสันโดษในป่าดง เป็นต้นตำหรับการดัดตนด้วยท่าไขว้แขนกอดอก พร้อมกับนั่งขัดสมาธิเพชร (คือนั่งไขว้ข้อเท้าให้ฝ่าเท้าทั้งคู่หงายขึ้น) เพื่อใช้แก้ไขอาการลมจุกเสียดในร่างกาย

ในตอนต้นของคัมภีร์ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ส่วนที่กล่าวถึงตำนานเมืองหริภุญชัย เท้าความว่ายังมีฤๅษีสี่ตนกับคฤหัสถ์อีกคนหนึ่งเป็นสหายกัน ได้แก่ฤๅษีวาสุเทพ อยู่ที่อุจฉุบรรพต ฤๅษีสุพรหม อยู่ที่สุภบรรพต ฤๅษีอนุสิสหรือฤๅษีสัชนาไลย อยู่ที่หลิททวันลินนคร และฤๅษีพุทธชฎิล อยู่ ณ ชุหะบรรพต ส่วนสุกกทันตะพำนักอยู่ที่เมืองลวปุระ

บุคคลกลุ่มนี้ใน “ชินกาลมาลีปกรณ์” ถูกคัดชื่อมารวมไว้ในโคลงภาพฤๅษีดัดตนครบทั้งหมด ดังนั้น ฤๅษีพุทธชฎิลในโคลงบทนี้ย่อมต้องหมายถึงพระฤๅษีผู้สถิตย์อยู่ ณ ชุหะบรรพต แน่นอน

อันที่จริง บรรดาฤๅษีในตำนานเมืองหริภุญไชยยังมีกล่าวถึงอยู่ในคัมภีร์อีกเรื่องหนึ่งด้วยคือ “จามเทวีวงศ์” รจนาโดยพระโพธิรังสีเถระแห่งอาณาจักรล้านนา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ หากแต่เมื่อพิจารณาตามนัยประวัติแล้ว เพิ่งมีการแปล “จามเทวีวงศ์” จากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ ๖ โดยพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๖๓ ขณะที่ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ของพระรัตนปัญญาเถระ มีการแปลจากคัมภีร์ใบลานอักษรขอม ภาษาบาลี ให้เป็นภาษาไทยมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ ในชื่อว่า “ชินกาลมาลินี” จึงสันนิษฐานว่านามพระฤๅษีสำรับนี้ในชุดโคลงภาพฤๅษีดัดตน ซึ่งแต่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ควรมีที่มาจาก “ชินกาลมาลีปกรณ์” มากกว่า


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ