๏ สุทธาวาศชาติทุกข์แจ้ง มรณะ เที่ยงแฮ ผนวชหน่ายไอสูรย์สละ เสลขได้ อาพาธเพื่อวาตะ ตึงเมื่อย ขาเฮย ยกเข่าคู้บาทไขว้ หัดถ์น้าวเหนี่ยวขาฯ
กรมหมื่นไกรสรวิชิต
(ถอดความ) ด้วยเล็งเห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ ความตายคือสิ่งเที่ยงแท้ ท้าวสุทธาวาศจึงสละราชสมบัติ ออกบวชเป็นฤๅษี ท่านเจ็บป่วยด้วยลมทำให้ตึงเมื่อยขา จึงดัดตนด้วยการนั่งยกเข่าไขว้ข้อเท้า พร้อมกับเอามือเหนี่ยวต้นขาไว้
นามฤๅษีสุทธาวาสฟังดูใกล้เคียงกับฤๅษีสุธาวาสในบทละครเรื่อง“อุณรุท”แต่ก็ยังติดขัดตรงที่ในเรื่องมิได้กล่าวถึงประวัติของท่านก่อนจะมาถือเพศเป็นฤๅษี เหมือนอย่างในโคลงบทนี้ซึ่งระบุว่าเป็นกษัตริย์ผู้เบื่อหน่ายราชสมบัติ จึงออกบวช
๏ มาจะกล่าวบทไป
ถึงพระสุธาวาสฤๅษี
อยู่ป่าปลายแดนบุรี
รัตนาธานีเมืองมาร
พฤกษารายรอบอาศรม
เงียบสงัดรื่นร่มรโหฐาน
สร่างพรตอดใจบำเพ็ญฌาน
ชำนาญหลายหมื่นปีมา
แผ่ไมตรีทั่วทุกตัวสัตว์
มัธยัสถ์เป็นองค์อุเบกขา
กองกูณฑ์พิธีบูชา
โดยเพศชีป่าพนาลี
อันหมู่สิงสัตว์ที่ร้ายกาจ
เกรงกลัวอำนาจก็หลีกหนี
เคยลงไปสรงวารี
ในโบกขรณีทุกวันวาร
ครั้นรุ่งรางสว่างเวลา
พระสิทธาจะไปสรงสนาน
ฉวยได้น้ำเต้าไม้เท้ากราน
ก็ออกจากสถานศาลาลัย
เช้าวันนั้นเอง เมื่อพระฤๅษีลงไปอาบน้ำที่สระโบกขรณี ได้พบเด็กทารกเพศหญิงในดอกบัว ซึ่งแท้จริงแล้วคือนางสุจิตรา ชายาของพระอินทร์ ผู้จุติลงมาตามเทวบัญชาแห่งพระอิศวร พระฤๅษีนำเด็กหญิงมาเลี้ยงไว้เหมือนเป็นลูก ตั้งชื่อให้ว่านางอุษา
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ