๏ ธาระณีพัฒนั่งน้อม โน้มกาย
เท้าเหยียดมือหยิกปลาย แม่เท้า
ลมกล่อนเหือดห่างหาย เห็นประจักษ์
อีกแน่นนาภีเร้า รงับเส้นกล่อนกษัยฯ

พระสมบัติธิบาล

taranepat

(ถอดความ) ฤๅษีธาระณีพัฒนั่งก้มตัวเหยียดขา เอามือจับปลายนิ้วหัวแม่เท้า ท่านี้ใช้แก้ลมกล่อน บรรเทาอาการแน่นท้อง และแก้กระษัย

หนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) อันเป็นพจนานุกรมยุคต้นรัชกาลที่ ๕ (พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๑๖) เก็บคำว่า “กล่อน” ไว้ โดยไม่มี “ลมกล่อน” แต่กลับมีคำว่า “กล่อนลม” ซึ่งน่าจะเป็นอาการเดียวกัน โดยอธิบายขยายความว่า

“กล่อน, เป็นชื่ออาการโรคอย่างหนึ่ง, มันมักให้ปัศสาวะเหลือง ให้เจ็บหลังเปนกำลัง.” และ

“กล่อนลม, เปนชื่ออาการโรคอย่างหนึ่ง, มักให้เปนลมมือท้าวเย็นเปนเหนบไป.”

ส่วนนามฤๅษีธาระณีพัฒ ยังค้นไม่พบว่ามาจากวรรณคดีเรื่องใด แต่เข้าใจว่าบางทีจะเป็นตนเดียวกับ “ฤๅษีทรพัท” ในหนังสือ “ตำราเทวรูปไสยศาสตร์” (ดูหนังสือ “ตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์” กรมศิลปากร) หรืออาจสะกดต่างไปเล็กน้อยเป็น “ฤๅษีทรพาท” รวมอยู่ในหมู่ฤๅษีผู้เกี่ยวเนื่องกับตำราคชลักษณ์ หรือตำราช้าง ดังมีข้อความใน “โคลงลักษณะช้าง ฉบับกรมหมื่นศิริธัชสังกาศ” กล่าวว่า

“ฤาษีเทพกรรมนี้ ฤาษีตนนี้ ฤๅษีเทพบุตร พระยาองค์นี้ชื่อเทพกรรม ฤๅษีทรพาท ฤาษีสิทธิพระกรรม เทพกรรม”


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ