๏ ทรงนานยามหณุนี้ เนาพนา เวศนา
ชูเชิดสองพาหา หัดถ์ช้อย
นั่งแบะฝ่าบาทา ซ้อนทับ กันแฮ
แก้ป่วนปวดท้องน้อย อีกเส้นสะบักจมฯ

พระองค์เจ้าคเณจร

ตามรอยฤๅษีดัดตน (๘๑) ยามหณุ

(ถอดความ)ฤๅษียามหณุอาศัยอยู่ในป่า ท่านยกแขนทั้งสองข้างขึ้น ดัดมืออ่อนช้อย พร้อมกับนั่งขัดสมาธิให้ฝ่าเท้าทั้งสองซ้อนทับกัน ท่านี้ใช้แก้ปวดท้องน้อยและแก้เส้นสะบักจม

ใน “อักขราภิธานศรัพท์” พจนานุกรมภาษาไทยฉบับของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) (พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๑๖ ต้นรัชกาลที่ ๕) เก็บคำว่า “สะบัก” ไว้ด้วย โดยขยายความว่า “สะบัก, คืออไวยวะมีที่ใต้บ่าลงไปมีสัณฐานเช่นผานที่เขาใส่หัวหมูไถนานั้น.” ภาษาฝรั่งเรียกกระดูกส่วนไหล่ชิ้นนี้ว่า scapula

นอกจากนั้นหมอบรัดเลย์ยังเก็บคำ “สะบักจม” ไว้ด้วยว่า “คือยอกที่ชายสะบักถัดบ่าลงไปสักหกนิ้วเจ็ดนิ้วนั้น.” ส่วนชื่อฤๅษียามหณุ มาจากนามฤๅษีเจ็ดตนที่พระอินทร์ทรงสาธก ยกมาอ้างอิงแก่พระเนมิราชโพธิสัตว์ ตามเรื่อง “เนมิราชชาดก” ตอนหนึ่ง (อ้างอิงตาม “พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒” ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย) ว่าเมื่อพระเนมิราชโพธิสัตว์ทรงเกิดข้อสงสัยว่าทานกับพรหมจรรย์ อย่างใดมีผลานิสงส์ยิ่งกว่ากัน พระอินทร์จึงเสด็จลงมาอธิบายให้พระเนมิราชโพธิสัตว์ฟังถึงผลแห่งการประพฤติพรหมจรรย์ โดยยกตัวอย่างฤๅษีทั้งเจ็ด “ฤๅษีผู้ไม่มีเหย้าเรือนเหล่านี้บำเพ็ญตบธรรม ได้ก้าวล่วงกามาวจรภพแล้วโดยแท้ คือฤๅษี ๗ ตน อันมีนามว่า ยามหนุฤๅษี โสมยาคฤๅษี มโนชวฤๅษี สมุททฤๅษี มาฆฤๅษี ภรตฤๅษี และกาลปุรักขิตฤๅษี”

กามาวจรภพ หรือฉกามาพจร คือสวรรค์หกชั้นที่ยังข้องเกี่ยวในกาม หรือยังอยู่ใน “กามภูมิ” พระอินทร์ยกตัวอย่างฤๅษีเหล่านี้ในฐานะของท่านผู้บำเพ็ญตบะ กระทั่งสามารถ “ก้าวล่วง” คือข้ามพ้นฉกามาพจรไปเกิดยังพรหมโลกทั้งสิ้น

นาม “ยามหณุ” ในที่นี้ จึงตรงกับยามหนุฤๅษี

ใน “โคลงภาพฤๅษีดัดตน” ยังปรากฏนามฤๅษีตนอื่นๆ ครบชุดฤๅษีทั้งเจ็ดที่อ้างถึงในเนมิราชชาดก ดังจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า


ruesi

บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว

ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท

จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

สั่งซื้อหนังสือ