๏ ดาบสเทวบิฐนี้ นักงาน น้ำนา
ตักส่งสรงศิวญาณ อยู่เกล้า
กายปมป่วยพิการ ปัตฆาฏ ตคริวเฮย
ยืนดัดเศียรเย่อเท้า ท่านแก้กลหมอฯ
พระองค์เจ้าทินกร
(ถอดความ)ฤๅษีเทวบิฐเป็นผู้ตักน้ำสรงถวายแด่พระศิวะ ท่านเจ็บป่วยด้วยลมปัตคาต ตะคริว จึงรักษาตนด้วยการยืนดัดกาย มือข้างหนึ่งดันศีรษะ อีกข้างดึงรั้งข้อเท้าไว้
ในความรู้แบบโบราณ “ตะคริว” นับเป็น “ลม” ชนิดหนึ่ง ดังที่หนังสือ “อักขราภิธานศรัพท์” ของหมอบรัดเลย์ (D. B. Bradley) (พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๑๖ ต้นรัชกาลที่ ๕) เก็บคำนี้ไว้ โดยบอกว่า “เปนลมในกายมนุษ, มันเกิดขึ้นทำให้ชัก มือแลท้าวเสียวริ่วๆ ให้มืองอท้าวงอ”
ชื่อของฤๅษีตนนี้ที่ออกนามไว้ในโคลง มีเขียนตัวสะกดต่างกันหลายแบบ นอกจาก “เทวบิฐ” ยังมี “เทวบิศ” เช่นรูปภาพใน “ตำราเทวรูปไสยศาสตร์” เขียนว่า “พระฤๅษีเทวบิศ” ส่วนใน “พระสมุดรูปพระไสยศาสตร์” เขียนว่า “พระเทวบิต” (ดูหนังสือ “ตำราภาพเทวรูปและเทวดานพเคราะห์” ของกรมศิลปากร พิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๕)
เรื่องฤๅษีเทวบิฐผู้มีหน้าที่ตักน้ำสรงถวายพระอิศวร มีกล่าวถึงอยู่ใน “นารายณ์สิบปาง ฉบับโรงพิมพ์หลวง” ว่าครั้งหนึ่งมีอสูรรูปม้าชื่อกัณฐะกะ มีฤทธิ์มาก เที่ยวเบียดเบียนตรีโลกให้ได้รับความเดือดร้อน แล้วเหาะไปเชิงเขาไกรลาส
“ขณะนั้นพระฤๅษีเทวบิดอันเป็นพนักงานน้ำสรงพระอิศวรเป็นเจ้า ลงมาตักน้ำในสระอโนดาต อสุรกัณฐะกะไล่ขบกัดพระฤๅษีนั้น พระฤๅษีก็หนีไปเฝ้าพระอิศวรเป็นเจ้า ทูลประพฤติเหตุทั้งปวง…”
นอกจากนั้น ดูเหมือนว่าฤๅษีตนนี้ยังไปปรากฏนามในตำราพิธีสารท ฉบับที่ได้มาจากเมืองนครศรีธรรมราช สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย แต่อาจคัดลอกมาคลาดเคลื่อนจึงสะกดเป็น “เทวะชิต” ดังข้อความที่ว่า “ให้ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระฤๅษีเทวะชิต และถวายทักษิณาบูชา” (ดู “ตำนานพิธีตรุษ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
ในภาพนี้ ช่างแสดงรูปฤๅษีเทวบิฐตรงตามเนื้อเรื่อง จึงวาดให้ท่านวางทั้งหม้อน้ำสำหรับตักน้ำสรงถวายพระศิวะ และไม้เท้าหัวกวาง อันเป็นเครื่องบริขารของพระฤๅษี ลงข้างตัวเสียก่อน แล้วค่อยหันมาแสดงแบบท่าดัดตนแก้ปัตคาต แก้ตะคริว ให้เราได้ชมกัน
…
บทความชุด “ตามรอยฤาษีดัดตน” มีต้นทางจากหนังสือ ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน โดยตัดทอนและปรับเนื้อหาใหม่ให้เหมาะกับการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ รวมถึงเสริมบางประเด็นที่มีข้อมูลใหม่ หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่หนังสือตีพิมพ์แล้ว
ฤาษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชน
รางวัลชมเชย กลุ่มหนังสือสวยงาม จากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน / จิตรกรรมดิจิตัล : สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ ๒๕๖๔
ปกแข็ง ๑๘๔ หน้า ๖๙๐ บาท
จากต้นฉบับลายเส้นฝีมือชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ อายุเกือบสองศตวรรษ คลี่คลายด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล สอดประสานกับฝีมือศิลปินร่วมสมัย ก่อกำเนิดเป็นภาพจิตรกรรมไทยฤๅษีดัดตนชุดใหม่ที่งามวิจิตรทั้ง ๘๐ ท่า รวบรวมไว้อย่างครบครันในรูปเล่มหนังสือปกแข็ง ฤๅษีดัดตน มรดกภูมิปัญญาจากบรรพชนโดยสำนักพิมพ์เมืองโบราณ ตีพิมพ์คู่กับคำโคลงประจำภาพสำนวนดั้งเดิม และการถอดความเป็นภาษาปัจจุบัน พร้อมบทนำเสนอการศึกษาประวัติศาสตร์และความสืบเนื่องขององค์ความรู้ อันนับเนื่องเป็นหนึ่งใน “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”
สั่งซื้อหนังสือ